“รูบิค”
หรือเจ้าลูกบาศก์สี่เหลี่ยมหมุนไปหมุนมาได้ ถือเป็นของเล่นที่มีประโยชน์มาก เพราะนอกจากให้ความสนุกแล้ว ยังสร้างสมาธิ เพิ่มทักษะการคิดล่วงหน้า ช่วยพัฒนาสมองได้เป็นอย่างดี ไม่แปลกที่พ่อแม่จำนวนไม่น้อยจะซื้อ “รูบิก” ให้ลูกเล่น แต่ล่าสุดมีข่าวให้ชวนผวาว่ามีการตรวจพบสารอันตรายในรูบิก!!
นายอัครพล ตีบไธสง นักวิชาการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า เครือข่ายระหว่างประเทศว่าด้วยการกำจัดสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม (ไอเพน : IPEN) สมาคมอาร์นิกา และองค์กรอื่นๆ ใน 26 ประเทศ รวมถึงมูลนิธิบูรณะนิเวศ ทำการสำรวจตัวอย่างของเล่นและผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งมีสารหน่วงการติดไฟชนิดที่มีสารโบรมีน ในหลายๆ ประเทศ
ของเล่นที่ว่า ได้แก่ ลูกบิดรูบิค 95 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีก 16 ตัวอย่าง ได้แก่ แก้วใส่น้ำร้อน กิ๊บหนีบผม หวี ที่คาดผม และของเล่นเด็กอื่นๆ เพื่อวิเคราะห์หาการเจือปนของสาร Octabromodiphenyl ether (OctaBDE) สาร Decabromodiphenyl either (DecaBDE) และสาร Hexabromocyclododecane (HBCD) ซึ่งเป็นส่วนผสมของสารหน่วงการติดไฟชนิดที่มีองค์ประกอบของโบรมีน
ผลวิเคราะห์พบว่า…
มีของเล่นเด็กและผลิตภัณฑ์พลาสติกหลายชนิดที่มีสารกลุ่มนี้ปนเปื้อนสูงกว่า 50 ppm ซึ่งเป็นระดับที่ก่ออันตรายต่อร่างกายได้ สำหรับการสำรวจในประเทศไทย มูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้สุ่มตรวจตัวอย่างลูกบิดรูบิกจำนวน 9 ตัวอย่าง และพบว่า 2 ตัวอย่างมีสาร OctaBDE และ DecaBDE ปนเปื้อนในระดับสูง และ 1 ตัวอย่างมีสาร HBCD ปนเปื้อนในปริมาณสูง
โดยทั่วไปสารกลุ่มนี้จะถูกใช้ในการผลิตพลาสติกจำพวกแผงวงจรไฟฟ้า กล่องหรือฝาครอบเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น จอเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือ ชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น เมื่อผลิตภัณฑ์เหล่านั้นหมดอายุการใช้งาน และถูกนำไปรีไซเคิลโดยไม่มีการกำจัดสารอันตรายกลุ่มนี้ออกเสียก่อน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลนี้ก็จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์
สารกลุ่มนี้ยังสามารถสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อม พืช และสัตว์ และยังสามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้จากการหายใจ การสัมผัส และการรับประทานอาหารที่มีสารเหล่านี้สะสมอยู่ ซึ่งเป็นอันตรายต่อพัฒนาการทางสมอง สามารถทำลายระบบประสาท และส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางเชาวน์ปัญญา หรือ ไอคิว (IQ) ของเด็ก อีกทั้งยังก่อให้เกิดมะเร็งในตับได้ จึงไม่ควรนำมาผลิตของเล่นเด็กโดยเด็ดขาด
ฉะนั้น ก่อนเลือกซื้อของเล่นให้เจ้าตัวซน คุณพ่อคุณแม่ควรเช็คแล้วเช็คอีก เพื่อให้มั่นใจว่าของเล่นชิ้นนั้นผลิตได้มาตรฐานและปลอดภัยสำหรับเจ้าตัวเล็ก