เตือนกันทุกปี แต่ “โรคมือ เท้า ปาก” ในเด็กเล็ก ก็ยังเป็นโรคยอดนิยมในผู้ป่วยวัยกระเตาะ ยิ่งเข้าสู่ช่วงเปิดเทอมของโรงเรียนทั่วประเทศ ประกอบกับมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ความเสี่ยงของการเกิดโรคเลยยิ่งเพิ่มทวีคูณ ไม่อยากให้เจ้าตัวเล็กเจ็บป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก คุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยป้องกันค่ะ
ข้อมูลจาก นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) ระบุว่า…
สถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 30 เมษายน 2560 พบผู้ป่วยแล้ว 17,117 ราย เสียชีวิต 1 ราย ส่วนในปี 2559 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยทั้งหมด 79,910 ราย เสียชีวิต 2 ราย
ซึ่งผู้ป่วยเกือบทั้งหมดเป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มากถึง 70,874 ราย คิดเป็นร้อยละ 89 ของผู้ป่วยทั้งหมด นอกจากนี้ ยังพบว่าช่วงที่พบผู้ป่วยมากที่สุดของปีที่แล้ว คือ ช่วงเปิดเทอมจนถึงหน้าฝน (เดือน พ.ค.- ส.ค.) เพียง 4 เดือนมีผู้ป่วยมากถึง 50,156 ราย คิดเป็นร้อยละ 63 ของผู้ป่วยทั้งหมด
“โรคมือ เท้า ปาก”
ติดต่อจากการได้รับเชื้อทางปากโดยตรง ซึ่งเชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จาม รดกัน ซึ่งโรคนี้เกิดการแพร่กระจายเชื้อโรคสู่กันได้ง่าย โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ โรคนี้อาจมีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใส หรือเม็ดแดงๆ ในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ก้น ซึ่งหายได้เองใน 7-10วัน แต่หากมีอาการแทรกซ้อน เด็กอาจมีอาการ เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ บางรายอาจถึงขั้นกินอาหารและน้ำไม่ได้
การป้องกันโรคมือ เท้า ปาก
- ดูแลรักษาสุขอนามัยของลูกให้สะอาดอยู่เสมอ สอนให้ลูกล้างมือบ่อยๆ หรือทุกครั้งที่สัมผัสสิ่งสกปรก
- หมั่นทำความสะอาดของเล่นและข้าวของเครื่องใช้ของลูกให้สะอาดเสมอ
- หลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น และสอนให้ใช้ช้อนกลางเมื่อกินอาหารร่วมกับผู้อื่น
- ไม่พาลูกไปในที่ชุมชนแออัด เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกเล่นหรือคลุกคลีกับเด็กที่ป่วยด้วยโรคมือเท้าปาก
ทั้งนี้ โรคมือ เท้า ปาก ไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีน ฉะนั้น ถ้าหากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบนำเด็กไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที