“การเล่นของเด็ก” เป็นวิธีการเรียนรู้อย่างหนึ่งโดยธรรมชาติ
ช่วยส่งเสริมพัฒนาการตามวัย ทำให้เด็กเป็นคนช่างสังเกต รู้จักคิดเชื่อมโยงเหตุผล ช่วยให้เด็กพัฒนาไปสู่วิธีการดำเนินชีวิตเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ที่สำคัญการเล่นทำให้เด็กมีความสุข ฉะนั้นสิ่งที่พ่อแม่ต้องใส่ใจคือ ชนิดของการเล่น วิธีการเล่น และของเล่น
เด็กเรียนรู้สิ่งต่างๆ โดยการเล่นผ่านทางประสาทสัมผัสการเล่นของเล่น ได้สังเกตเห็นความแตกต่างและความคล้ายคลึงของสิ่งต่างๆ ที่เล่น ได้เรียนรู้รูปร่าง ขนาดความหยาบ ความละเอียดของของเล่น
ดังนั้น พ่อแม่จึงควรจัดเวลาและสถานที่ให้เหมาะสม เพื่อให้เด็กได้มีการออกกำลังกายเคลื่อนไหว เช่น การเดินหรือการวิ่งในที่โล่งกว้าง บรรยากาศถ่ายเท และคำนึงถึงความปลอดภัย ผลลัพธ์ที่ได้จะทำให้เด็กคล่องแคล่วกระฉับกระเฉง กล้ามเนื้อแข็งแรง รวมถึงช่วยฝึกความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ
เคล็ดลับในการเลือกของเล่นให้ลูกน้อยวัยซน
- เลือกของเล่นที่ปลอดภัย คงทน ไม่มีมุมหรือเหลี่ยมคม ใช้สีที่ไม่เป็นพิษ มีความแข็งแรงคงทน ทำความสะอาดได้ง่าย มีน้ำหนักที่เหมาะสมกับเด็ก
- เหมาะสมกับวัย สีสันสดใส มีประโยชน์รอบด้าน และเด็กสามารถเรียนรู้ได้หลากหลาย
- หลีกเลี่ยงของเล่นที่ส่งเสริมความก้าวร้าวรุนแรง เช่น ของเล่นที่เป็นอาวุธ
- มีมาตรฐานความปลอดภัย เช่น มอก.6.
ตัวอย่างของเล่นที่เหมาะกับเด็กวัย 4-6 ขวบ เช่น “เชือกกระโดด” ช่วยฝึกการทรงตัวและสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อขา, “ชุดแท่งไม้สร้างเมือง” ช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบโครงสร้างและเรียนรู้เรื่องสมดุล นอกจากนี้อาจใช้กิจวัตรประจำวันให้ลูกเกิดการเรียนรู้ร่วมกับการเล่นของเล่น เช่น การฝึกร้อยเชือกรองเท้าหรือติดกระดุมเสื้อ ซึ่งจะช่วยพัฒนาการทำงานประสานกันระหว่างตากับมือ
ทั้งนี้ การเล่นของเด็กต้องอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่เสมอ และระมัดระวังการเล่นที่ก่อให้เกิดอันตราย หรือการเลียนแบบที่อาจทำให้เด็กใช้ความรุนแรง ซึ่งเด็กอาจจำมาจากหนังหรือละครต่างๆ เช่น การเล่นโลดโผนรุนแรง การเล่นอาวุธ หรือสถานที่ที่ไม่ปลอดภัย เช่น ที่สูง ถนน ใกล้น้ำ เป็นต้น ที่สำคัญหลังจากการเล่นและออกกำลังกายแล้วควรมีเวลาพักผ่อนอย่างเหมาะสมและเพียงพอ
ไม่จำเป็นต้องซื้อของเล่นราคาแพง ของเล่นที่พ่อแม่ทำเองจากวัสดุที่มีในบ้าน หรือการเล่านิทาน ร้องเพลง การทายปัญหา เป็นการเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กและช่วยถักทอสายใยรักในครอบครัวได้เป็นอย่างดีค่ะ