ด้วยค่านิยมของคนไทยที่ว่า “เด็กอ้วนเป็นเด็กน่ารัก” ทำให้พ่อแม่รวมทั้งผู้ใหญ่ในบ้าน มักมีความสุขเมื่อเห็นเด็กน้อยในครอบครัวอ้วนจ้ำม่ำ รวมถึงสนับสนุนให้เจ้าตัวซนกินเยอะๆ โดยไม่ได้ควบคุม ทั้งที่ความจริงแล้ว ความอ้วนไม่ใช่เรื่องดีงาม เพราะความอ้วนมีผลกระทบอย่างคาดไม่ถึงต่อสุขภาพของเด็กค่ะ
คนอ้วนมีโอกาสเกิดโรคร้ายอื่นๆ เช่น ภาวะไขมันเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคเบาหวาน, โรคข้อกระดูกเสื่อม, โรคระบบทางเดินหายใจติดขัด, ความผิดปกติของตับ ฉะนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กอ้วนสะสมกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่ จึงควรควบคุมน้ำหนักของเด็กให้เหมาะสมตามเกณฑ์
เป้าหมายของการรักษาเด็กที่เป็น “โรคอ้วน” คือ พยายามทำให้น้ำหนักต่อส่วนสูงกลับคืนสู่ปกติและมีความสูงเพิ่มขึ้นตามวัย เด็กที่อ้วนไม่มากและอยู่ในวัยเจริญเติบโตเร็วไม่จำเป็นต้องลดน้ำหนัก เพียงรักษาน้ำหนักเดิมไว้หรือให้เพิ่มเพียงเล็กน้อย เมื่อเด็กสูงขึ้นก็จะน้ำหนักต่อส่วนสูงปกติได้
วิธีพิชิตโรคอ้วน
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ที่อุดมไปด้วยผัก ผลไม้ ธัญพืช และไขมันต่ำ
- งดอาหารเค็ม หวาน และมัน ๆ
- จำกัดการบริโภค เกลือและน้ำตาล
- บริโภคอาหารให้ครบ 3 มื้อ โดยเฉพาะอาหารเช้า
- ดื่มน้ำอย่างน้อย วันละ 6-8 แก้ว
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้งๆ ละ 30 นาที
- ทานอาหารประเภท ต้ม นึ่ง ย่าง แทนการทอด ผัด
สำหรับการป้องกันโรคอ้วนในเด็กนั้น พ่อแม่ต้องสร้างวัฒนธรรมการใช้ชีวิตแบบไม่อ้วนในครอบครัว โดยต้องมีความเข้าใจโรคอ้วนอย่างถูกต้อง
สอนและทำเป็นตัวอย่างในการเลือกและประกอบอาหารให้เด็กรับประทาน, การสร้างนิสัยการกินที่ดี (เช่น การเคี้ยวอาหารช้าๆ กินผลไม้แทนการกินขนม ไม่กินจุบจิบ ไม่กินน้ำอัดลม, ไม่สะสมขนมขบเคี้ยวขนมกรุบกรอบไว้ในบ้าน) รวมถึงสร้างนิสัยให้เด็ก ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 30 นาที
ทั้งนี้ พ่อแม่ที่มีบุตรหลานที่เป็นโรคอ้วนควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาโรคอื่นๆ หรือผลข้างเคียงที่เกิดจากโรคอ้วน เพื่อรักษาก่อนอาการจะรุนแรงค่ะ