ในวัย 2 และ 3 ขวบเด็กไม่สามารถเข้าใจได้ว่าฝันคืออะไร หรือนั่นไม่ใช่เรื่องจริง แล้วเขาจะแน่ใจได้อย่างไรว่าฝันร้ายจะไม่เกิดขึ้นกับเขาจริงๆ ?
พอถึงอายุ 4 และ 5 ขวบเด็กเริ่มจะเข้าใจว่าฝันไม่ใช่เรื่องจริง แต่ความเข้าใจของเขานั้นยังคงไม่มั่นคง นอกจากนั้นเด็กในวัยนี้ยังต้องการที่จะเชื่อหรือคิดถึงฝันที่ “ดี” ของเขาในด้านบวก ในแง่ที่ดี แต่เขาก็ยังไม่สามารถเลิกเชื่อในฝันที่ “ไม่ดี” ได้ แม้ว่าเด็กจะเข้าใจว่าฝันร้ายไม่ใช่เรื่องจริงแล้วก็ตาม แต่เขายังคงถูกทิ้งให้เผชิญกับความรู้สึกน่าตกใจ กลัวที่ทำให้เขาอกสั่นขวัญแขวนไม่หาย
สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อลูกฝันร้าย
- ฝันร้ายทำให้ลูกกลัวที่จะกลับไปนอนต่อ
- เกิดความกลัวการเข้านอน เพราะบางครั้งเด็กอาจจะจำความฝันนั้นไม่ได้ แต่เขาจำความรู้สึกในตอนนั้นได้อย่างแน่นอน
- เกิดความกังวลใจ ไม่สบายชีวิตจริง ทั้งที่ตื่นจากฝันแล้ว
สาเหตุของการเกิดฝันร้าย
- บางครั้งฝันร้ายเกิดขึ้นเมื่อเด็กที่กำลังนอนหลับอยู่นั้นไม่สบายตัว เช่น นอนทับแขน ทำให้แขนชา ปวดฉี่ หรือเย็นเท้า เมื่อผ้าห่มเลื่อนหลุดจากเตียง ความรู้สึกทางกายภาพที่สร้างความรำคาญสามารถแสดงออกในฝันร้ายคล้ายๆ กับเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องน่ากลัวที่ ผลักดันหรือกระตุ้นให้ลูกตื่นขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานั้น
- ฝันร้ายจะเกิดขึ้นมากที่สุดในเวลาที่เด็กกำลังผ่านพ้นช่วงเวลาที่ตึงเครียด เช่น คุณแม่มีน้องใหม่ ความเจ็บปวดชอกช้ำใจ คุณพ่อคุณแม่เดินทางไปที่อื่น ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุของฝันร้าย หากความเครียดนั้นเห็นได้ชัดเจน ก็จะเข้าใจฝันร้ายได้ง่ายขึ้น
- ลูกมีประสบการณ์เกี่ยวกับความตายของสมาชิกในครอบครัว ญาติ หรือเพื่อน จะกลัวการ
นอนหลับ เพราะพวกเขาอาจเชื่อมโยงความตายกับการนอนหลับเข้าด้วยกัน การที่ผู้ใหญ่อธิบายการตายอาจทำให้การนอนหลับน่ากลัวมากยิ่งขึ้น เป็นการยากที่จะทำให้เด็กรู้สึกอุ่นใจ หลังจากเกิดการตายขึ้น เพราะว่าความตายนั้นเป็นเรื่องยากที่ใครจะเข้าใจได้ เด็กๆ อาจรู้สึกตื่นกลัวเมื่อพ่อแม่โศกเศร้าอย่างเห็นได้ชัดและแยกตัวพวกเขาเองออกไป แต่การให้ข้อมูลที่ง่ายชัดเจนและระมัดระวัง ก็จะช่วยให้เด็กไม่กลัวและไม่ฝันร้ายได้อย่างแน่นอน เช่น
“คนเราตายเมื่อพวกเขาแก่มากๆ ป่วยมากๆ หรือเมื่อเขาประสบอุบัติเหตุร้ายแรง เมื่อตายพวกเขาไม่ได้เข้านอน ร่างกายของพวกเขาจะหยุดทำงาน พวกเขาไม่สามารถรู้สึกหรือเคลื่อนไหวได้ ไม่มีอะไรต้องกลัว แต่เรายังจดจำและคิดถึงคนที่เราห่วงใยเสมอหลังจากพวกเขาตายนะลูก”
วิธีแก้ไขเมื่อลูกฝันร้าย
วิธีที่ดีที่สุด คือ ปลอบประโลมให้ลูกคลายกังวลด้วยความเข้าอกเข้าใจ ไม่จำเป็นต้องอยู่เคียงข้างตลอดเวลาหรือตามใจทุกอย่าง แต่ควรช่วยลูกห้เรียนรู้ที่จะเอาชนะความกลัวในฝันร้ายด้วยตัวเขาเอง และเขาจะทำได้สำเร็จ ถึงแม้ว่าอาจไม่ใช่ในช่วงปีที่เขากำลังอ่อนไหวต่อสิ่งเหล่านี้มากที่สุดอย่างช่วงนี้ก็ตาม…