การกินอาหารไม่ได้มีคุณค่าแค่เพียงสร้างเสริมสุขภาพร่างกายของลูกให้สมบูรณ์แข็งแรงเท่านั้น แต่ยังเป็นช่วงเวลาสำคัญในการสร้างเสริมสุขนิสัยที่ดีให้กับลูกได้อีกด้วยค่ะ
สอนอะไรลูกได้บ้าง?
- ล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง บอกเหตุผลว่า เจ้าเชื้อโรคตัวร้ายกำลังรอวิ่งเข้าท้องลูกอยู่นะ..!! ถ้าฝึกทำเป็นนิสัย ลูกจะทำเองแม้ไม่ได้อยู่ในสายตาเรา
- กินอาหารให้ตรงเวลา นอกจากจะหลีกเลี่ยงโรคกระเพาะแล้ว ยังเป็นการฝึกวินัยที่ดี ไม่เปิดโอกาสให้ลูกห่วงเล่น และต่อรองที่จะไม่ทำนู่นทำนี่อีกด้วย
- กินอาหารให้ถูกที่ ให้ลูกรู้ว่า โต๊ะอาหารคือที่สำหรับกินอาหาร กินเสร็จแล้วจึงไปเล่น ไม่ควรปล่อยให้ลูกกินไป วิ่งไป เล่นไป หรือให้กินอาหารบนที่นอนเพราะลูกไม่อยากลุก ฯลฯ เพราะเท่ากับปลูกฝังให้ลูกไม่ตระหนักถึงความเหมาะควรในเรื่องเวลาและสถานที่ (กาละ+เทศะ)
- ใช้ช้อนกลางนะจ๊ะ เป็นมารยาทเบื้องต้นของการกินอาหารร่วมกับผู้อื่น และยังช่วยป้องกันเชื้อโรคที่จะส่งผ่านถึงกันได้ด้วยค่ะ
- กินอาหารที่มีประโยชน์ สอนลูกให้กินอาหารที่มีประโยชน์ เมื่อลูกชอบ เราก็ไม่ต้องบังคับให้เหนื่อย
- กินง่ายอยู่ง่าย ฝึกลูกกินให้อาหารหลากหลาย สร้างทัศนคติไม่เลือกกิน ไม่เรื่องมาก ไปไหนมาไหนก็สบายหายห่วงทั้งคุณแม่คุณลูกค่ะ
- มูมมามไม่เหมาะ เป็นมารยาทพื้นฐานที่ควรเน้นย้ำ เช่น มีอาหารในปากไม่ควรพูด (จะทำให้สำลักด้วย) ตักอาหารแต่พอคำ, ไม่ทำหกเลอะเทอะ ฯลฯ ถึงลูกจะยังเล็กและอาจยังควบคุมตัวเองได้ไม่ดี แต่เชื่อเถอะค่ะว่าลูกจะพยายามและจะทำได้ดีเมื่อโตขึ้น
นอกจากนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังสอนสิ่งที่ลูกน้อยสามารถนำไปปรับใช้กับเรื่องอื่นๆ ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วยนะคะ
- ฝึกการตัดสินใจ เปิดโอกาสให้ลูกเลือกอาหารเองบ้าง โดยเฉพาะเมื่อต้องทานอาหารนอกบ้าน
- เรียนรู้ที่จะรอคอย บางครั้งลูกอาจงอแง อยากได้อาหารทันทีเพราะหิว คุณแม่อาจจะสอนลูกว่า เห็นไหมจ้ะลูกมีคนมาก่อนเราหลายคน ร้านเขาต้องทำตามคิวนะจ้ะ ลูกอดทนหน่อย เดี๋ยวอาหารก็มาแล้ว เป็นต้น
- รู้จักการแบ่งปัน ชักชวนให้ลูกตักอาหารแจกทุกคนบ้าง ลูกอาจจะชอบอาหารบางอย่างมากและหวง จะกินคนเดียว ก็ต้องบอกลูกว่าต้องแบ่งกัน อาหารอร่อยทุกคนก็อยากทานเหมือนกัน ถ้าหมดแล้วเดี๋ยวเราทำใหม่/ สั่งใหม่ได้
- รู้หน้าที่ของตัวเอง มอบหมายงานเล็กๆ ให้ลูกทำเป็นหน้าที่ประจำ เช่น เตรียมช้อน-ส้อม เตรียมแก้วน้ำของตัวเอง
คุณพ่อคุณควรหาโอกาสพาลูกเข้าครัว สำรวจตู้เย็น ช่วยทำอาหาร ช่วยเตรียมโต๊ะอาหารบ้างนะคะ ลูกจะรู้สึกตื่นเต้น ได้มีส่วนร่วม และให้ความสำคัญกับมื้ออาหารของตัวเองมากขึ้นไปด้วย คราวนี้จะ ‘ป้อนข้าว’ หรือ ‘ป้อนนิสัย’ ลูกก็พร้อมจะรับเต็มที่แล้วค่ะ