เด็กๆ บางคนอาจจะไม่มีโอกาสได้เล่นหรืออยู่กับเพื่อนๆ ในวัยเดียวกันมากนัก บางคนก็เป็นลูกคนเดียว จึงได้รับการดูแลดุจดั่งเทวดาตัวน้อยๆ แต่เมื่อเด็กๆ ต้องเข้าโรงเรียน ลูกจึงต้องเรียนรู้ว่าตัวเองไม่ใช่ Number one เสมอไป จะว่าไปแล้ว โรงเรียนก็คือแบบจำลองทางสังคมที่เด็กๆ จะต้องใช้ชีวิตจริงเมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่นั่นเอง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรจะสอนให้ลูกรู้จักวิธีการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข ดังนี้ค่ะ
สอนให้เรียนรู้กฎกติกา
กฎ กติกา เป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันทางสังคม เด็กๆ ควรเรียนรู้จากเรื่องเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน จากสังคมหน่วยเล็กที่สุดในระดับครอบครัว เช่น เล่นแล้วต้องเก็บ, ต้องทานข้าวให้เสร็จจึงเล่นได้, ขออนุญาตก่อนทำ ฯลฯ เพื่อจะได้เกิดความเข้าใจและสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดของสังคมในหน่วยที่ใหญ่ขึ้นอย่างโรงเรียนได้
สอนให้ทำตามคำสั่งง่ายๆ ได้
เช่น เอาหมวกใส่กระเป๋า, ไปหยิบขวดน้ำ, ถอดรองเท้าแล้ววางให้เป็นระเบียบ ฯลฯ การปฏิบัติตามคำสั่งได้นี้ เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการตามวัยที่โรงเรียนจะต้องประเมินค่ะ
ฝึกให้รู้จักการรอคอยและการเข้าคิว
แน่นอนว่าที่โรงเรียนไม่ได้มีลูกของเราเท่านั้น การดูแลนักเรียนของคุณครูจึงต้องทำตามลำดับ เด็กๆ จึงจำเป็นต้องรู้จักการรอคอยและเข้าใจลำดับก่อนหลัง คุณพ่อคุณแม่เองไม่จำเป็นต้องตอบสนองทันทีที่ลูกต้องการ แต่อาจเลือกที่จะสร้างเงื่อนไขบ้าง แล้วให้สิ่งที่ลูกต้องการหากเป็นไปตามเงื่อนไข และเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกเห็นเรื่องการเข้าคิวในกิจกรรมประจำวันต่างๆ
ฝึกให้รู้จักแบ่งปัน
สอนลูกและเป็นแบบอย่างให้ลูกเป็นคนชอบช่วยเหลือ มีน้ำใจ เอื้ออารี ลูกจะซึมซับแนวคิดและรู้จักการแบ่งปันไปโดยอัตโนมัติค่ะ
ฝึกให้รับฟังผู้อื่นและรู้จักยอม
เช่น ลูกอยากทานพิซซ่า คุณแม่อาจจะลองไม่ตามใจ ให้เหตุผลว่า วันนี้คุณยายไปทำฟันมา คุณยายทานพิซซ่าไม่ได้ เราทานข้าวต้มแทนได้ไหมจ๊ะ แล้ววันหน้าเราค่อยไปทานพิซซ่ากัน เป็นต้น ลูกจะได้เรียนรู้เรื่องของเหตุผล รู้จักนึกถึงผู้อื่น และยอมทำสิ่งที่ขัดกับความต้องการของตัวเองบ้าง
สอนให้ลูกรู้จัก “ขอโทษ” และ “ขอบคุณ”
เพื่อแสดงให้เห็นถึงการรู้จักแยกแยะและสำนึกถูกผิด คุณพ่อคุณแม่ช่วยฝึกลูกได้โดยการกระตุ้นเตือนให้พูด ขอโทษ ทุกครั้งเมื่อทำผิด และ ขอบคุณ ทุกครั้งเมื่อได้รับความกรุณาหรือการชมเชย แค่สองคำนี้รับรองได้ว่า ลูกจะเป็นที่รักของเพื่อนๆ และคุณครูแน่นอนค่ะ
พาไปเล่นกับเพื่อนข้างบ้านหรือญาติพี่น้องวัยเดียวกัน
วิธีนี้เป็นเหมือนภาคปฏิบัติสำหรับข้อแนะนำต่างๆ ที่ได้อบรมสั่งสอนและฝึกลูกมา แล้วให้เขาได้นำไปใช้จริง คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตดูลูกอยู่ห่างๆ ให้ลูกได้ตัดสินใจและแก้ปัญหาเอง มีอะไรที่ต้องปรับปรุงแก้ไข ก็ค่อยๆ บอก ค่อยๆ สอนกัน หลังจากเลิกเล่นแล้วค่ะ
Tips*
เมื่อฝึกให้ลูกเล่นกับเพื่อน ไม่ควรเข้าไปเป็นกรรมการตัดสินปัญหา ไม่ควรดุว่าลูกต่อหน้าคนอื่นนะคะ เด็กก็เหมือนผู้ใหญ่ที่รู้จักอาย เสียหน้า เสียใจ ในทางกลับกัน ก็ไม่ควรเข้าข้างลูกจนเกินเหตุ ลูกจะไม่รู้จักความถูกผิดและไม่รู้จักแก้ปัญหาด้วยตัวเองค่ะ