ช่วงนี้พบผู้ติดเชื้อและป่วยด้วยโรคโควิด 19 เพิ่มขึ้น ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้คาดการณ์ไว้ เนื่องจากอากาศเริ่มเย็นลง และมีการเปิดเทอม รวมถึงมีวันหยุดยาว ประชาชนจึงเดินทางออกไปทำกิจกรรมต่าง ๆ เด็กวัยซนถือเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงที่ควรเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันการป่วยหนัก และลดโอกาสเสียชีวิต
การระบาดของโควิด 19 เป็นไปตามฤดูกาล ในรอบของปี ในระลอกนี้ การระบาดจะเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา และจะขึ้นสูงสุดหลังปีใหม่หรือเดือนมกราคม และจะไปเริ่มลดลงตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป จนเหลือน้อยมากในเดือนมีนาคม และจะไปขึ้นการระบาดรอบใหม่ของปีในฤดูฝนหรือเดือน มิถุนายน ถึงเดือนกันยายน เป็นไปตามฤดูกาลของโรคทางเดินหายใจ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นภูมิต้านทานให้สูงขึ้นในขณะนี้
สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ล่าสุด (วันที่ 20 – 26 พฤศจิกายน 2565) มีผู้ป่วยโควิด 19 รวม 4,914 ราย เฉลี่ย 702 รายต่อวัน มีผู้ป่วยปอดอักเสบ 553 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 319 ราย และผู้เสียชีวิต 74 ราย เฉลี่ย 10 รายต่อวัน ซึ่งในกรณีมีรายงานข่าวเด็กอายุ 6 ขวบ ติดเชื้อโควิด 19 และเสียชีวิตที่จังหวัดนครราชสีมานั้น พบว่าผู้เสียชีวิตรายดังกล่าวมีโรคประจำตัวเรื้อรัง ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ประกอบกับไม่ได้รับวัคซีนโควิด 19 จึงทำให้มีอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต
เด็กที่ไม่ฉีดวัคซีนเมื่อติดโควิดมีโอกาสป่วยหนักเนื่องจากเกิดกลุ่มอาการอักเสบหลายระบบของอวัยวะภายในในเด็ก (Multisystem inflammatory syndrome in children: MIS-C) จนมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ แต่วัคซีนสามารถป้องกันภาวะการป่วยนี้ได้ ดังนั้น พ่อ แม่ ผู้ปกครองควรรีบพาบุตรหลานไปฉีดวัคซีนโดยเร็ว ทั้งเด็กเล็กอายุ 6 เดือน – 4 ปี (วัคซีนฝาสีแดง) และอายุ 5-11 ปี (วัคซีนฝาสีส้ม) เพื่อเป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันในช่วงฤดูหนาวที่มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งวัคซีนสำหรับเด็กเล็กฝาสีแดงนี้มีประสิทธิภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัย ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และตั้งแต่เริ่มฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 เป็นต้นมา ยังไม่พบว่าเด็กมีอาการแพ้วัคซีน
เคล็ดลับดูแลป้องกันเจ้าตัวซนจากโรคโควิด 19
1. พาลูกหลานวัยซนไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบ 4 เข็ม (ฉีดวัคซีนได้ที่สถานพยาบาลทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย)
2. เด็กวัยซนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือฉีดเข็มสุดท้ายเกิน 6 เดือนแล้ว สามารถรับการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Long-acting Antibodies; LAAB) ซึ่งจะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันในผู้ที่ตอบสนองต่อวัคซีนได้น้อยกว่าคนทั่วไป เมื่อฉีดเข้าไปแล้วร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิดได้สูงทันทีหลังฉีด
3. หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปทำกิจกรรมในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด รวมถึงการใกล้ชิดกับผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน สำหรับเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือฉีดเข็มสุดท้ายเกิน 6 เดือนแล้ว ให้งดทานข้าวร่วมกับผู้อื่น หรือไม่เข้าร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากโดยไม่สวมหน้ากาก
5. ดูแลและสอนให้เจ้าตัวซนสวมหน้ากากอนามัยในที่ รวมทั้งเมื่ออยู่ใกล้ชิดผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 รวมถึงดูแลและสอนให้เจ้าตัวซนล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ และไม่นำมือมาจับบริเวณใบหน้า
ย้ำกันอีกครั้งเด็กวัยซน รวมถึงทุกคนควรได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างน้อย 4 เข็ม โดยเข้ารับการฉีดให้เร็วที่สุด ไม่ต้องรอจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ หรือรอวัคซีนรุ่นใหม่ เพื่อป้องกันการป่วยหนัก และลดโอกาสเสียชีวิตจากโรคโควิด