เด็กทุกคนต้องได้รับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรคที่สถานพยาบาลเป็นระยะ ๆ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องพาเด็กไปรับวัคซีนตามที่แพทย์กำหนด เพื่อให้เจ้าตัวซนมีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์ตามวัย และปลอดภัยจากโรคติดต่อต่าง ๆ นอกจากนี้อีกสิ่งที่พ่อแม่ควรรู้คือ คำแนะนำในการฉีดวัคซีนสำหรับเด็ก
คำแนะนำและสิ่งที่ควรรู้ในการฉีดวัคซีน
1. หลังการฉีดวัคซีน เด็กอาจมีไข้ประมาณ 1-2 วัน ให้ดูแลโดยให้ยาลดไข้ และเช็ดตัว ถ้ามีปฏิกิริยาจากวัคซีนมาก เช่น มีไข้ ชัก ควรรีบพาไปพบแพทย์และควรแจ้งอาการโดยละเอียดให้แพทย์ทราบ เพื่อเป็นข้อมูลในการฉีดวัคซีนครั้งต่อไป
2. ถ้าเด็กมีไข้ในวันนัด ควรเลี่ยงการฉีดวัคซีนไปจนกว่าจะหายดี แต่หากเป็นหวัดหรือไอเล็กน้อย โดยทั่วไปจะฉีดวัคซีนได้ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป
3. วัคซีนหลายชนิดสามารถให้วันเดียวกันได้ ปฏิกิริยาจากการฉีดวัคซีนขึ้นอยู่กับวัคซีนแต่ละชนิด และเด็กแต่ละราย
4. เด็กที่มีประวัติแพ้ไข่ หรือ Neomycin ชนิดรุนแรง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ จะได้ฉีดวัคซีนอย่างระมัดระวังขึ้น
5. เด็กที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น โรคเอดส์ หรือป่วย และได้รับการรักษาด้วยยาบางอย่าง ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนที่เป็นอันตรายได้
6. ผลการป้องกันวัคซีนที่ฉีดครบกำหนดบางตัว อาจป้องกันได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์
7. บางครั้งอาจมีก้อนเป็นไตบริเวณที่ฉีดวัคซีน ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่เจ็บและจะหายไปเองใน 2-3 เดือน อาการดังกล่าวเป็นผลของส่วนผสมในวัคซีนร่วมกับการฉีดไม่ลึกพอ ซึ่งอาจเกิดในเด็กบางคน
ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวหลังการฉีดวัคซีน
เมื่อเด็กได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว อาจเกิดอาการข้างเคียงบางอย่าง จึงมีข้อแนะนำดังนี้
1. ปวด บวม แดง ร้อน
อาการปวด บวม แดง ร้อน มักเกิดขึ้นในบริเวณที่ฉีดวัคซีน เด็กอาจร้องกวนงอแงได้ ถ้าหากมีอาการมาก คุณแม่อาจใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบ และให้ลูกรับประทานยาแก้ปวด
2. ไข้ตัวร้อน
มักเกิดในวัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก คุณแม่ควรช่วยเช็ดตัวให้ลูกด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นหมาน ๆ โดยเฉพาะบริเวณซอกคอ ข้อพับ ควรเช็ดให้มาก ๆ และอาจให้รับประทานยาลดไข้ประเภทพาราเซตามอลตามด้วย
3. ไอ มีน้ำมูก มีผื่น
อาจพบหลังฉีดวัคซีนหัดเยอรมันไปแล้ว 5 วัน โดยมากจะไม่รุนแรง แต่ถ้าไม่มีอาการอื่น ๆ มักหายเองได้ แนะนำให้ดื่มน้ำมาก ๆ แต่ถ้าเด็กมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ซึม เพลียมาก ไม่เล่น รับประทานอาหารไม่ได้ ต้องพาไปพบแพทย์
4. ชัก
มักไม่ได้เกิดจากผลของวัคซีนที่ใช้อยู่โดยตรง แต่อาจเกิดจากกการมีไข้สูงจัดเกินไป ดังนั้น ต้องป้องกันไม่ให้เด็กมีไข้สูงจัด แต่หากเด็กมีอาการชักต้องปฏิบัติ ดังนี้
1) ผู้เลี้ยงดูต้องตั้งสติให้ดี ไม่ตกใจจนเกินไป
2) จับหน้าของเด็กหันไปด้านข้างด้านใดด้านหนึ่ง หรือจับให้นอนคว่ำเพื่อป้องกันการสำลัก
3) ไม่ควรเอาวัตถุใด ๆ เช่น ช้อน นิ้วมือ ใส่เข้าไปในปากเด็ก เพราะจะยิ่งทำให้สำลักมากขึ้น
4) รีบนำส่งสถานพยาบาลใกล้บ้าน
5) ระหว่างเดินทางมาพบแพทย์ หากเด็กตัวร้อนควรเช็ดตัวให้เด็กระหว่างทางด้วย
ที่ลืมไม่ได้ คือ ต้องนำสมุดบันทึกวัคซีนมาด้วยทุกครั้ง และหลังจากลูกได้รับวัคซีน ควรรออยู่ในโรงพยาบาลอย่างน้อย 30นาทีเพื่อดูปฏิกิริยาแพ้ยา