รู้ทันภัย “หูน้ำหนวก” โรคเฉียบพลันที่พบบ่อยในเด็กเล็ก

0

เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งโรคพบบ่อยในเด็กน้อยวัยซน สำหรับ “หูน้ำหนวก” โดยอาการของหูน้ำหนวกจะมีหนองไหลจากช่วงหูชั้นกลาง โดยทะลุผ่านแก้วหูออกมา อาจเป็นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ มักพบในเด็กเล็ก ๆ แต่เด็กโตที่มีสุขภาพอนามัยไม่ดีก็พบได้ ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวที่พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ไม่ควรละเลย

สาเหตุ

– มีการติดเชื้อหรือเป็นฝีจากหูชั้นนอกแล้วลามไปถึงหูชั้นกลาง เช่น น้ำคลองสกปรกเข้าหู การแคะหูโดยใช้ของสกปรก เช่นกิ๊บหนีบผม ก้านไม้ขีด ไม้จิ้มฟัน เศษไม้ หรือใช้ขนไก่ปั่นหู

– มีโรคเรื้อรังเช่น เป็นหวัดนาน ๆ ฟันผุ ต่อมทอนซิลหรือคออักเสบเรื้อรัง เชื้อโรคจะลามไปตามท่อยูสเตเชี่ยน ซึ่งเชื่อมระหว่างคอกับหู เมื่อเชื้อเข้าไปถึงหูชั้นกลางทำให้เกิดการอักเสบ และยังอาจลุกลามเข้าไปในโพรงกระดูกหลังใบหูทำให้เกิดหนองขังอยู่ในโพรงกระดูกนั้น การรักษาด้วยวิธีหยอดยาในช่องหูหรือรับประทานยาก็ดี ยาจะซึมผ่านเข้าไปถึงโพรงกระดูกได้ยาก ทำให้หนองแห้งยาก บางครั้งกลับลุกลามไปเป็นฝีในสมองเป็นอันตรายถึงตายได้

การรักษา

– ใช้สำลีสะอาดพันปลายไม้ค่อย ๆ เช็ดหนองออกจากช่องหูให้มากที่สุดแล้วหยอดด้วยยาหยอดหูขององค์การเภสัชกรรม

– ไม่ควรใช้ยาที่มีลักษณะเป็นผงใส่ในหู เพราะจะไปจับกับขี้หูและน้ำหนองเป็นก้อนแข็งแคะออกลำบาก ทำให้ช่องหูอุดตัน

– ไม่ควรใช้ยาไฮโดรเจนเพอร์อ๊อกไซดหยอดหรือเช็ดในช่องหูเป็นอันขาด เพราะฟองที่เกิดขึ้นจะผลักดันหนองให้กระจายไปรอบ ๆ ซึ่งอาจผลักดันหนองให้หลุดเข้าไปถึงช่องหูชั้นในที่ติดกับเนื้อสมอง ทำให้เป็นฝีในสมองได้ ซึ่งเป็นอันตรายมาก

– การให้ยารับประทาน หรือยาฉีดมักไม่ได้ผล หากเป็นหูน้ำหนวกและปฏิบัติตามคำแนะนำเกินครึ่งเดือนแล้วยังไม่หายควรปรึกษาแพทย์เป็นวิธีที่ดีที่สุดเพราะแพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดโพรงกระดูกหลังใบหู ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่ให้ผลดี

-อาการของโรคหูน้ำหนวกในเด็กแต่ละชนิดมีวิธีการดูแลรักษาที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง โดยแพทย์อาจจะให้ยาปฏิชีวนะ ยาแก้หวัด ยาแก้ไข้ และยาหยอดจมูก ดังนั้น เมื่อพบว่าลูกมีอาการดังกล่าว รีบพาไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง

การป้องกัน

– ไม่ใช้สิ่งต่าง ๆ ที่สกปรกแคะหู ไม่แคะหรือปั่นเข้าไปในหูลึก ๆ รวมถึง และไม่ควรสั่งน้ำมูกแรง ๆ

– ระวังอย่าให้ไม่ให้น้ำเข้าหูขณะว่ายน้ำ รวมถึงหลีกเลี่ยงการดำน้ำหรือว่ายน้ำขณะโพรงจมูกอักเสบ

– ถ้ามีน้ำสกปรกเข้าหู ควรใช้สำลีสะอาดพันปลายไม้เล็ก ๆ ซับน้ำออกให้หมด

– ในเด็กเล็กถ้ามีวัตถุแปลกปลอมเข้าหูอย่าพยายามแคะออกเอง ควรพาไปพบแพทย์เพื่อเอาออกจะปลอดภัยกว่า

อย่างไรก็ตาม โรคหูน้ำหนวกสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยพ่อแม่ควรดูแลสุขอนามัยของเจ้าตัวซนอย่างถูกวิธี และปฏิบัติตามคำแนะนำแพทย์อย่างเคร่งครัด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *