
โรคซึมเศร้า (Depression) เป็นโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่ง ไม่ใช่แค่ความเศร้าเสียใจอย่างธรรมดาที่เป็นอยู่ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ แล้วหายไป แต่เป็นความรู้สึกเศร้าอย่างรุนแรงและเนิ่นนานเกินกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป โรคนี้สามารถเกิดได้กับทุกเพศและทุกวัย ไม่เว้นแม้แต่เด็กเล็กเป็นช่วงวัยแห่งความสนุกสนาน
อารมณ์ซึมเศร้าในเด็กจะคล้ายกับผู้ใหญ่ สังเกตได้จากการที่เด็กไม่สามารถคิดหรือทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ เด็กเหล่านี้จะรู้สึกเหงา เศร้า ว้าเหว่ ขาดความภูมิใจในตนเอง มองโลกในแง่ร้าย รู้สึกผิดตลอดเวลา มีปัญหาการเรียน การนอน การขับถ่าย ปัสสาวะรดที่นอน เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เก็บตัว ไม่อยากไปโรงเรียน ถ้าเป็นเด็กโตอาจพูดถึงการฆ่าตัวตาย อาการซึมเศร้าอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น เพื่อนแกล้ง พ่อแม่หย่าร้าง การเสียชีวิตของคนที่รัก เป็นต้น
ลักษณะอาการซึมเศร้าในเด็ก คล้ายลักษณะซึมเศร้าในผู้ใหญ่ เช่น มีอาการซึมเศร้า รู้สึกท้อแท้ รู้สึกตนเองไร้ค่า, หมดความสนใจหรือกระตือรือร้นในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ลดลง, ไม่หลับไม่นอนหรือนอนมากจนผิดปกติ, กินมากขึ้นหรือน้อยลงอย่างผิดปกติ, เก็บตัวและแยกตัวออกจากทุกคน ไม่เว้นแต่พ่อแม่, อ่อนไหว ร้องไห้ง่าย ๆ, ทำร้ายตนเอง
สิ่งที่ทำให้เกิดอาการซึมเศร้าในเด็ก ได้แก่ ความผิดปรกติของฮอร์โมนหรือสารเคมีในร่างกายบางอย่าง, เกิดจากกรรมพันธุ์ที่ถ่ายทอดมาจากคนในครอบครัว, ความขัดแย้งในจิตใจของตัวเด็ก รวมถึงลักษณะนิสัยและการปรับตัว, ผลกระทบทางจิตใจ เช่น การเลี้ยงดูที่เข้มงวดมากจนเกินไป การถูกละเลยหรือไม่ได้รับการเอาใจใส่จากคนในครอบครัว ถูกเพื่อนแกล้งมากๆ ถูกคุณครูดุหรือทำโทษบ่อยๆ การสูญเสียบุคคลในครอบครัวอันเป็นที่รัก
หากเด็กกำลังอยู่ในภาวะซึมเศร้า จะดูแลเด็กอย่างไรดี ?
– พ่อแม่ ผู้ปกครองควรอยู่ใกล้ชิด เฝ้าสังเกตพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลง ควรระมัดระวังคำพูดและการกระทำบางอย่างที่อาจไปกระทบจิตใจเด็ก
– พ่อแม่ ผู้ปกครองควรหากิจกรรมที่สนุกที่เด็กชอบทำ เช่น เล่นกับสัตว์เลี้ยง เล่นกีฬา ทำงานอดิเรกที่ชอบ เป็นต้น เพื่อให้เด็กไม่ซึมเศร้า แยกตัวอยู่ตามลำพัง
– การแสดงออกของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่บ่งบอกว่ารักและเข้าใจ พร้อมที่จะช่วยเหลือและให้คำแนะนำแก่เด็ก เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เด็กกล้าพูดหรือเล่าเรื่องที่คับข้องใจ
– หากเด็กมีภาวะซึมเศร้านานเกิน 1 เดือน ควรพาเด็กมาพบแพทย์ ยาจะช่วยรักษาอาการซึมเศร้าได้
ครอบครัวสามารถป้องกันภาวะซึมเศร้าในเด็กได้โดยการให้ความรัก ความเข้าใจ เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็กในการพัฒนาบุคลิกภาพของเด็กให้เข้มแข็ง ควรรู้จักการใช้เหตุผล การแสดงออกทางอารมณ์ที่เหมาะสม ลดความขัดแย้งต่าง ๆ ในครอบครัว เอาใจใส่ความเป็นไปในเรื่องต่าง ๆ ของสมาชิกในครอบครัวด้วยกัน ซึ่งสามารถช่วยลดปัญหาการป่วยของโรคซึมเศร้าในเด็ก รวมถึงป้องกันปัญหาทางจิตใจอื่น ๆ ได้
สิ่งที่พ่อแม่ควรทำความเข้าใจ คือ การรักษาโรคซึมเศร้าต้องใช้เวลา ดังนั้น ไม่ควรรีบร้อนหรือเร่งรัด แต่จำต้องใช้ความอดทนทั้งกายและใจ เพื่อจะช่วยให้เจ้าตัวซนกลับมามีโลกที่สดใสอีกครั้งหนึ่ง