การดูแลสุขภาพช่องปากลูกน้อย เป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ ต้องใส่ใจดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งจากการศึกษาของกรมอนามัย เรื่องพัฒนาการของเด็กปฐมวัยไทยล่าสุด พบว่า เด็กปฐมวัยที่ไม่มีปัญหาสุขภาพช่องปาก มีโอกาสที่จะพัฒนาการสมวัยเพิ่มขึ้น 1.43 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่มีปัญหาสุขภาพช่องปาก
จากการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากแห่งชาติ ครั้งที่ 8 พบความชุกของโรคฟันผุในเด็กอายุ 3 ปี ร้อยละ 52.9 และเด็กอายุ 5 ปี ร้อยละ 75.6 ซึ่งปัญหาฟันผุ ส่งผลให้เด็กเจ็บปวดทรมาน เสียสุขภาพ กระทบต่อการเจริญเติบโต และพัฒนาการของเด็ก ทั้งยังพบว่า การมีฟันผุหลายซี่ในปาก มีความสัมพันธ์กับภาวะแคระแกร็นของเด็ก การสูญเสียฟันน้ำนมไปก่อนกำหนด ทำให้เด็กกินอาหารลำบาก เคี้ยวไม่สะดวก และเด็กที่มีฟันน้ำนมผุมาก จะมีแนวโน้มว่าฟันแท้จะผุมากขึ้นเช่นกัน หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที โรคจะลุกลาม และสูญเสียฟันในที่สุด
สาเหตุหลักของการเกิดฟันผุในเด็กปฐมวัย เกิดจากพฤติกรรมการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม เช่น ปล่อยให้เด็กหลับคาขวดนมหลังจากฟันน้ำนมขึ้นในช่องปากแล้ว การให้เด็กกินขนม หรือเครื่องดื่มที่มีรสหวานเป็นประจำ รวมถึงพ่อแม่ ผู้ปกครองละเลยการแปรงฟันให้เด็กด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย และสุขภาพช่องปากของเด็กในอนาคต
การมีฟันน้ำนมผุลึก จะทำให้เด็กมีอาการปวดฟัน เคี้ยวอาหารไม่ได้ ร่างกายจะได้รับสารอาหาร ไม่ครบถ้วน ส่งผลต่อการเจริญเติบโต เด็กจะมีน้ำหนักและส่วนสูงน้อย อีกทั้งอาการปวดฟันยังส่งผลให้เด็กนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ มีพัฒนาการบางด้านไม่สมวัย หรือมีพัฒนาการด้อยกว่าเด็ก ๆ ที่มีฟันดี ดังนั้น การดูแลสุขภาพช่องปากจึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญตั้งแต่เด็ก เพื่อลดปัญหาฟันผุเมื่อโตขึ้น
วิธีป้องกันฟันผุในเด็กเล็ก มีดังนี้
1. พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรแปรงฟันให้เด็กตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกเริ่มขึ้น ด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ และแปรงฟันให้ต่อเนื่อง จนกว่าเด็กมีพัฒนาการข้อมือที่แข็งแรง (ประมาณอายุ 7-8 ปี) จึงจะให้เด็กแปรงฟันเอง โดยพ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องคอยสังเกตสุขภาพช่องปากของลูก เน้นเรื่องความสะอาด และการแปรงฟันเป็นประจำจนเป็นนิสัย
2. ฝึกนิสัยไม่ให้ลูกกินขนมจุบจิบ ขนมหวาน ลูกอม เนื่องจากเป็นสาเหตุของฟันผุ ควรจำกัดน้ำตาลไม่เกิน 4 ช้อนชา ต่อวัน หากลูกอยากกินให้เลือกอาหารว่างที่มีประโยชน์ไม่เติมน้ำตาลและไม่ทำให้ฟันผุ เช่น นมจืด ผลไม้ แซนวิชโฮลวีททูน่า
3. สอนและดูแลให้ลูกบ้วนปากหลังดื่มนม กินขนม กินของว่าง หรือหลังกินอาหารทุกครั้ง
ที่สำคัญควรพาเจ้าตัวซนไปรับการตรวจสุขภาพช่องปากโดยทันตแพทย์ หากประเมินแล้วพบว่าเริ่มมีความเสี่ยงฟันผุ จะมีการเคลือบฟันด้วยฟลูออไรด์ความเข้มข้นสูงและนัดตรวจติดตามเป็นระยะ ๆ ทุก 3 เดือน