ชวนลูกออกกำลังกาย หนึ่งในวิธีส่งเสริมสุขภาพที่ดีของเด็กวัยซน

0

การออกกำลังกาย คือ การทำกิจกรรมที่ได้ออกแรงหรือเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งมีหลายรูปแบบ หากทำอย่างสม่ำเสมอ เหมาะสมตามอายุและสภาพร่างกายย่อมก่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพ สำหรับเด็กวัยซนก็เช่นกัน การออกกำลังกายเป็นหนึ่งในปัจจัยสู่การมีสุขภาพที่ดี พ่อแม่จึงควรส่งเสริมการออกกำลังกายของลูกวัยซน

การออกกำลังกายในวัย 3-6 ปีจะเป็นรากฐานสำคัญต่อชีวิตเด็กไปตลอด การออกกำลังกายจะส่งเสริมการพัฒนาระบบประสาท กระดูกและกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องทั้งกล้ามเนื้อมัดใหญ่และกล้ามเนื้อมัดเล็ก นอกจากนี้ยังกระตุ้นการทำงานของสมอง ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาความสามารถรอบด้านทั้งทางร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา

ดังนั้น พ่อแม่และครูจึงควรส่งเสริมการออกกำลังกายของเด็กวัยซนหรือวัยอนุบาลอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ โดยเด็กวัยนี้ต้องการการเล่นอิสระกลางแจ้งอย่างน้อยวันละ 30 นาที และไม่ควรปล่อยให้เด็กอยู่กับสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นเวลานาน เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน จนขาดโอกาสออกกำลังกาย

เด็กวัยซนมีการพัฒนาการทำงานของกล้ามเนื้อที่ดีขึ้น เคลื่อนไหวได้เร็วและคล่องแคล่ว ทรงตัวได้ดี รับและส่งบอลได้ตรงเป้าหมาย กระโดดได้ไกล ปีนป่ายได้เก่ง ประกอบกับการเล่นเป็นธรรมชาติของเด็กวัยนี้ ดังนั้นเขาจึงมักจะมีแรงจูงใจในการออกกำลังกายอยู่แล้ว ขอเพียงได้รับการส่งเสริมจากพ่อแม่(รวมถึงครู)จัดกิจกรรมให้เจ้าตัวซนได้ออกกำลังกาย เด็กน้อยมักจะร่วมมือได้ไม่ยากนัก

สิ่งที่ควรคำนึงถึงในการออกกำลังกายของเด็กวัยซน คือ

1. การดูแลเรื่องความปลอดภัยของเครื่องเล่นและสิ่งแวดล้อมที่เด็กเล่น

2. ไม่ควรให้เด็กเล่นติดต่อกันนานเกิน 30 นาที เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อล้าและเกิดอุบัติเหตุจากการหกล้มได้ง่าย

3. พ่อแม่ควรดูแลเด็กขณะที่ออกกำลังกาย อย่าปล่อยให้คลาดสายตา เพราะช่วงวัยนี้ การประสานงานระหว่างสมอง ตา กล้ามเนื้อ อาจจะยังไม่ดีเพียงพอ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น หกล้ม

4. ไม่ควรให้เด็กออกกำลังกายที่ตั้งกฎกติกา หรือมีระเบียบ ต้องแนะนำเด็กเสมอว่า เป็นการเล่น และเลือกที่เหมาะสมกับพัฒนาการ อาจคำนึงถึงความสนุกสนาน ความชอบ และความต้องการของเด็กแต่ละคนที่แตกต่างกันไป สาเหตุส่วนใหญ่ที่เด็กไม่อยากออกกำลังกายก็เนื่องมาจากไม่มีความชอบและไม่รู้สึกสนุกนั่นเอง

5. สลับสับเปลี่ยนลักษณะการออกกำลังกายหลาย ๆ รูปแบบเพื่อให้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเด็กได้มีการใช้อย่างทั่วถึงทุกส่วน และไม่ให้เจ้าตัวซนเกิดความรู้สึกเบื่อ

6. การออกกำลังกายหรือกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับเด็กวัยนี้ ได้แก่ กระโดดกระต่ายขาเดียว กระโดดสองขา กระโดดเชือก วิ่งไล่จับ เตะลูกบอล กลิ้งม้วนหน้า ปีนป่ายเครื่องเล่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน(มีล้อช่วยทรงตัว) ขว้างรับจานร่อนหรือลูกบอล

7. ไม่ควรให้เด็กออกกำลังกายในขณะที่อากาศร้อนเกินไป อย่าลืมเลือกเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ระบายอากาศได้ดี

8. ควรดูแลให้เด็กได้พักดื่มน้ำประมาณ ½ – 1 แก้วเป็นระยะเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำจากการออกกำลังกาย

9. ควรให้เด็กหยุดกิจกรรมเมื่อเด็กแสดงอาการอ่อนเพลียหรือเหนื่อยจากการเล่น

นอกจากนี้ ควรสังเกตความผิดปกติของร่างกายเด็ก เช่น การหายใจหอบหรือหายใจแรงหรือได้ยินเสียงวี้ด ๆ อาการเหนื่อย หอบและริมฝีปากเขียวคล้ำขณะเล่น หากพบอาการเหล่านี้ต้องพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *