เมื่อลูกวัย 3-5 ปี โกรธ-งอแง-อาละวาด จะรับมืออย่างไร?

0

อารมณ์ คือ การตอบสนองสั้นๆ จากสิ่งที่มากระตุ้น ส่งผลต่อความคิด ร่างกาย การแสดงออก และพฤติกรรม เช่น โกรธ เสียใจ ซึ่งความสามารถในการจัดการกับอารมณ์ของแต่ละคนจะมีไม่เท่ากัน โดยเฉพาะในเด็กๆ มักไม่สามารถควบคุมอารมณ์ต่างๆ ได้ดี ทำให้เกิดปัญหาพฤติกรรมต่างๆ ได้ เช่น โกรธ งอแง อาละวาด

เมื่อลูกมีอารมณ์โกรธ

เด็กเล็กมักจะแสดงอารมณ์ เนื่องจากยังไม่รู้จักการสื่อสารอารมณ์ออกมาเป็นคำพูด พ่อแม่ช่วยให้ลูกควบคุมอารมณ์ได้ โดยการสอนให้ลูกเล็กรู้จักใช้อารมณ์ ใช้คำ ใช้การพูดแบบตรงๆ เลยว่าในขณะนั้นๆ เขามีอารมณ์อะไรอยู่ เขาเรียกกันว่าอารมณ์อะไร อย่างตอนที่เขาโกรธก็บอกกับเขาว่า “ตอนนี้หนูกำลังโกรธนะคะ” “อย่างนี้คือโกรธนะ” “เสียใจนะ” ฯลฯ แล้วสอนให้ลูกสื่อสารความรู้สึกออกมา เช่น “แม่รู้ว่าหนูโกรธ ไหนเล่าให้แม่ฟังซิว่าโกรธอะไร” พร้อมกันนี้พ่อแม่ก็ควรจะเสนอแนะวิธีการหรือทางออกที่จะจัดการกับอารมณ์นั้นๆ ให้กับลูกอย่างถูกต้องและเหมาะสมด้วย เช่น “ตอนนี้หนูกำลังโกรธ หนูจะขว้างปาข้าวของหรือตีคุณแม่อย่างนี้ไม่ได้นคะ” แล้วก็แยกตัวลูกออกมาให้เขาได้สงบจิตสงบใจ

เมื่อลูกร้องงอแงหรืออาละวาด

เมื่อลูกร้องงอแงหรือดิ้นอาละวาด ให้บอกลูกอย่างสงบว่า “แม่รู้ว่าหนูโกรธ แต่หนูร้องงอแงอย่างนี้ แม่ฟังไม่รู้เรื่องหนูหยุดร้องแล้วมาบอกแม่ว่าต้องการอะไรแม่จะไปทำงานในครัวก่อน” จากนั้นก็เพิกเฉย ไม่สนใจอาการนั้น จนกว่าเด็กจะสงบลง จึงค่อยมาพูดคุยโดยพ่อแม่รับฟังความต้องการของลูก แล้วพูดสอนว่าพฤติกรรมนั้นไม่ดี และพ่อแม่ไม่ต้องการให้เขาทำอีก

ให้เด็กเรียนรู้ว่าเขาจะได้รับสิ่งที่ต้องการต่อเมื่อใช้วิธีพูดกันดีๆ เท่านั้น

หากลูกอาละวาดนอกบ้าน พ่อแม่ไม่ควรตามใจ ควรอุ้มลูกออกไปจากที่นั้นทันที แต่หากเด็กโตพอ ก็สามารถใช้วิธีนิ่งเฉยอย่างสงบ  เช่น บอกว่า “หายเหนื่อยแล้ว ตามแม่มานะลูก” แล้วก็เดินไปเลย เด็กจะเรียนรู้ว่าการเรียกร้องสิ่งที่ต้องการด้วยการอาละวาดเป็นวิธีที่ไม่ได้ผลและเขาจะไม่ทำอีก ทั้งนี้ หากพ่อแม่กลัวขายหน้าและตามใจลูก ให้คิดว่าการมัวแต่กลัวขายหน้าคือการทำลายลูก การที่พ่อแม่อดกลั้นได้คือการสร้างบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ให้กับลูกที่จะกล่อมเกลาเป็นคุณสมบัติที่ดีงามของลูกไปชั่วชีวิต

ข้อควรระวัง

• การเข้าไปโอ๋ลูกต้อนลูกกำลังโกรธและอาละวาด การทำเช่นนี้เด็กจะยิ่งได้ใจและทำกริยาเช่นนี้อีกทุกครั้งเพื่อให้พ่อแม่เข้าไปโอ๋

• การเข้าไปห้าม ไปดุ ขณะที่เด็กอาละวาด เด็กจะยิ่งทดสอบพ่อแม่และอาละวาดมากขึ้น

• เดินหนีไปเฉยๆ โดยไม่บอกกล่าวอะไร เด็กจะตกใจว่าพ่อแม่หายไปไหน โดยเฉพาะเด็กเล็กจะยิ่งร้องดังขึ้น

• ขู่เด็กว่าแม่จะหนีไปแล้วหรือไม่อยู่ด้วยแล้ว เด็กอายุ 3-5 ปี ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการพรากจากโดยเด็กจะเกิดความกลัวและรู้สึกไม่มั่นคง

• การตามใจหรือเปลี่ยนนกฎเวลาลูกอาละวาด เช่น บางครั้งก็เข้าไปโอ๋ บางครั้งก็เดินหนี เด็กจะยิ่งสับสนและอาละวาดหนักอีกอย่างแน่นอน

นอกจากการสอนเจ้าตัวซนแล้ว การทำให้ดูเป็นตัวอย่างเป็นอะไรที่สำคัญไม่แพ้กัน เด็กๆ จะเรียนรู้จากการกระทำของพ่อแม่ ดังนั้น หากมีอารมณ์โกรธ ต้องระงับอารมณ์ ไม่ระเบิดอารมณ์ใส่เด็ก และพูดคุยกันเมื่ออารมณ์สงบแล้วเท่านั้น 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *