ภาวะโภชนาการที่ดี เป็นรากฐานสำคัญของการมีสุขภาพดีตลอดชีวิตโดยเฉพาะในช่วงที่มีการเจริญเติบโตตั้งแต่ในครรภ์มารดาจนถึงวัยรุ่น หากขาดอาหาร ไม่เพียงแค่แสดงให้เห็นทางกายภาพว่าเด็กตัวเล็ก ผอม เตี้ย แต่ยังมีผลต่อการพัฒนาสมอง ทำให้สติปัญญาต่ำ เรียนรู้ช้า นำไปสู่ปัญหาต่างๆ เมื่อเด็กโตเป็นผู้ใหญ่
เมื่อลูกน้อยตกอยู่ในภาวะ “ขาดสารอาหาร” นอกจากพ่อแม่ผู้ปกครองต้องพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายว่า เจ็บป่วยหรือมีโรคประจำตัวที่มีผลต่อการเจริญเติบโตหรือไม่ ถ้ามี ให้อยู่ในความดูแลของแพทย์แล้ว ยังต้องใส่ใจดูแลเพื่อฟื้นฟูสุขภาพของเจ้าตัวซน โดยมีคำแนะนำในการบริโภคอาหารสำหรับเด็กขาดสารอาหาร (น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์/ เตี้ย/ ผอม) สรุปได้ดังนี้
- กินอาหารให้ครบทุกกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มข้าว-แป้ง กลุ่มผัก กลุ่มผลไม้ กลุ่มเนื้อสัตว์ และกลุ่มนม ในปริมาณที่เหมาะสมและควรกินให้หลากหลาย โดยดูปริมาณอาหารที่แนะนำใน 1 วัน กินผักและผลไม้ทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 มื้อ หรือกินผลไม้ ประมาณ 10 คำ ต่อวัน สลับชนิดกันไป
- เพิ่มอาหารประเภทที่ให้พลังงาน เพื่อให้เด็กมีน้ำหนักและส่วนสูงเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาหารประเภทข้าว-แป้งเช่น ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน ขนมปัง เผือก มัน เป็นต้น และอาหารไขมัน เช่น น้ำมัน โดยการปรุงอาหารด้วยวิธีทอดหรือผัด และกะทิ อาจทำเป็นกับข้าวหรือขนมหวานแบบไทยๆ เช่น กล้วยบวดชี
- ในเด็กเตี้ย ให้เพิ่มอาหารพวกเนื้อสัตว์ให้เด็กกิน เช่น ไข่ หมู ไก่ ปลา เพื่อเพิ่มโปรตีน และเพิ่มอาหารที่ให้แคลเซียม ได้แก่ นม ปลากระป๋อง ปลาที่กินได้ทั้งกระดูก เช่น ปลาตัวเล็ก กุ้งฝอย เต้าหู้ (ยกเว้นเต้าหู้หลอดไข่และน้ำเต้าหู้เพราะให้แคลเซียมเพียงเล็กน้อย) โดยเฉพาะนม เด็กควรดื่มนมทุกวันๆ ละ 2-3 กล่อง
- ให้มีอาหารระหว่างมื้อ ได้แก่ อาหารว่างเช้า และบ่าย
- อย่าให้เด็กกินขนม-น้ำหวาน น้ำอัดลม ก่อนเวลาอาหารประมาณ 1.5 – 2 ชั่วโมง
- จัดหาอาหารเสริมที่มีพลังงานและโปรตีนสูง เช่น นม ไข่ ถั่วลิสง ให้กับเด็กขาดอาหารกินทุกวันจนกว่ากลับเข้าสู่กลุ่มเสี่ยง
ทั้งนี้ พ่อแม่ควรดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งเด็กขาดอาหาร และกลุ่มเสี่ยงต่อการขาดอาหาร เนื่องจากเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมีโอกาสขาดอาหารได้ง่าย จึงควรป้องกันไว้ก่อนค่ะ