ด้วยสภาพสังคม ค่านิยม วิถีการดำเนินชีวิต อาหารการกินที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยที่เป็นตัวเอื้อให้คนไทยในรุ่นนี้ตัวสูงใหญ่ทัดเทียมชนชาติตะวันออก ทำให้คนที่ตัวเล็กหรือตัวเตี้ยดูจะเสียเปรียบและขาดโอกาสในหลายด้าน
คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกตัวเตี้ยกว่าเด็กคนอื่นๆ ที่อยู่ในวัยเดียวกันมักจะเกิดความกังวลว่าลูกเราผิดปกติหรือไม่ ลูกเราจะสูงเท่ากับเด็กคนอื่นไหม ส่วนคุณลูกที่ “ตัวเตี้ย” ก็อาจเกิดความคิดว่าเขาผิดปกติไม่เหมือนกับเด็กคนอื่นในวัยเดียวกัน ซึ่งปัญหานี้โดยส่วนมากเกิดกับเด็กวัยรุ่นที่ชอบมีการเปรียบเทียบกับเพื่อนหรือกลัวถูกเพื่อนล้อ
คำว่าตัวเตี้ย หรือ Short Stature คือภาวะที่ส่วนสูงที่วัดได้มีค่าน้อยกว่าค่าปกติของเพศและอายุนั้นๆ
สาเหตุของ ” ตัวเตี้ย ” แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
1. ตัวเตี้ยแบบปกติ
ถ้าขยายความก็คือว่า เด็กตัวเตี้ยก็จริงแต่แข็งแรงดีไม่มีโรคภัยไข้เจ็บที่น่าเป็นห่วง กลุ่มนี้พบได้ประมาณร้อยละ 60 ของเด็กที่มาปรึกษาด้วยเรื่องตัวเตี้ย สาเหตุสำคัญเกิดจาก
- ตัวเตี้ยเนื่องจากกรรมพันธุ์ (Familial short stature)
เด็กจะมีความสูงสัมพันธ์กับความสูงของพ่อแม่คือพ่อหรือแม่ตัวเตี้ย นั่นคือพันธุกรรมเป็นปัจจัยในการกำหนดความสูงนั่นเอง เด็กกลุ่มนี้ถึงจะเตี้ยแต่อัตราการเจริญเติบโตอยู่ในเกณฑ์ปรกติ
- ตัวเตี้ยในลักษณะเป็นม้าตีนปลาย (Constitutional delayed growth and puberty =CDGP)
เด็กจะเจริญเติบโตตามเกณฑ์ปรกติตั้งแต่คลอดแต่พอช่วงอายุประมาณ 2 ขวบ ก็เริ่มดูเหมือนจะเติบโตช้าลง เส้นกราฟการเจริญเติบโตเปลี่ยนมาอยู่ในเส้นที่ต่ำลง (cross percentile) แต่อย่างไรก็ตามเขาก็จะเติบโตต่อไปด้วยอัตราการเจริญเติบโตที่ปรกติ ประมาณ 5 เซนติเมตร/ปี และเขาจะเป็นหนุ่มหรือสาวช้ากว่าเพื่อนวัยเดียวกัน เมื่อเพื่อนคนอื่นหยุดสูงเนื่องจากกระดูกปิดแล้ว
เด็กกลุ่มนี้จะยังมีเวลาเติบโตต่อไปได้อีก 2-3 ปี เนื่องจากอายุกระดูกเขาช้ากว่าเพื่อน คุณพ่อหรือคุณแม่มีประวัติเป็นหนุ่มหรือสาวช้ากว่าปกติ (คุณพ่ออาจจะโกนหนวดช้าหรือคุณแม่มีประจำเดือนครั้งแรกช้า เป็นต้น) แบบนี้คุณพ่อคุณแม่สบายใจได้ว่าลูกแข็งแรงไม่ได้เป็นโรคอะไร
2. ตัวเตี้ยแบบผิดปกติ
เด็กกลุ่มนี้ไม่ใช่ว่าตัวเตี้ยอย่างเดียว มักจะ “โตช้า” ด้วย ซึ่งเปรียบง่าย ๆ ว่าเส้นกราฟการเจริญเติบโตแทนที่จะขนานกับเส้นปรกติแต่กลับเบี่ยงเบนออกมาเรื่อย ๆ พูดง่าย ๆ คืออัตราการเจริญเติบโตต่ำกว่าปรกติ (น้อยกว่า 5 เซนติเมตร / ปี) สำหรับสาเหตุที่สำคัญมีดังนี้
- ภาวะโภชนาการไม่ดี มักมีปัญหากินไม่พอ แคลลอรี่น้อย พวกนี้มักไม่แค่ “ตัวเตี้ย” แต่ยังผอมอีกด้วย กลุ่มนี้ถ้ารับอาหารเพียงพอการเจริญเติบโตก็จะดีขึ้น
- มารดามีปัญหาระหว่างตั้งครรภ์ เช่น มารดาสูบบุหรี่หรือดื่มสุรา
- ความผิดปรกติของกระดูก พวกนี้จะเตี้ยไม่สมส่วน ตัวยาวแขนขาสั้น
- รหัสกรรมพันธุ์ผิดปรกติ เช่น Down’s syndrome , Turner’s syndrome
- โรคในระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ โรคปอด โรคทางเดินอาหาร โรคไต โรคเลือด มักมีอาการและอาการแสดงอย่างอื่นที่บ่งชี้ว่ามีความผิดปรกติร่วมด้วย
- เด็กที่ถูกเลี้ยงดูในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีต่อจิตใจ (Psychosocial Short Stature)
- ความผิดปรกติของฮอร์โมน ภาวะขาดธัยรอยด์ฮอร์โมน, ภาวะขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโต, ภาวะคอร์ติซอลเกิน, ความผิดปรกติของฮอร์โมนที่ควบคุมระดับแคลเซียมในเลือด
การที่เด็กจะเจริญเติบโตได้ดีนั้นขึ้นกับปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน ได้แก่ กรรมพันธุ์ , การได้รับสารอาหารวิตามิน แร่ธาตุที่เหมาะสม , การออกกำลังกายที่สม่ำเสมอ , การพักผ่อนที่เพียงพอและการที่เด็กได้รับการเลี้ยงดูในสภาพแวดล้อมที่อบอุ่น ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรมุ่งเน้นส่งเสริมสุขภาพให้บุตรหลานในจุดเหล่านี้
อย่างไรก็ตามถ้าคุณพ่อคุณแม่สงสัยหรือไม่แน่ใจว่าลูกอาจมีภาวะ “ตัวเตี้ย” ที่ผิดปรกติหรือไม่ ก็สามารถปรึกษากุมารแพทย์เฉพาะทางหน่วยต่อมไร้ท่อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ได้ค่ะ