รู้จักโรคหัวใจในเด็ก พร้อมวิธีสังเกตอาการผิดปกติ

0

โรคหัวใจสามารถเกิดขึ้นในเด็กทุกกลุ่มอายุ จึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากโรคนี้ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและสุขภาพของเด็กอย่างมาก พ่อแม่ ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอาการของเจ้าตัวซนอย่างสม่ำเสมอ เพราะโรคหัวใจในเด็ก สามารถรักษาให้หายได้ หากเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที

โรคหัวใจในเด็กสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลัง โดยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดพบในเด็ก 8 คน จาก 1,000 คน ซึ่งเด็กเป็นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ บางคนทราบตั้งแต่เด็กยังอยู่ในครรภ์มารดา แต่ส่วนใหญ่ตรวจพบตั้งแต่แรกเกิด ส่วนน้อยที่อาการไม่ชัดเจนอาจตรวจพบในภายหลัง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคหัวใจ ซึ่งบางโรคแสดงอาการตั้งแต่เป็นเด็กแรกเกิดหรือบางกลุ่มโรคเด็กมีอาการตอนโต โรคที่พบเจอบ่อย เช่น ผนังกั้นห้องหัวใจมีรูรั่ว ลิ้นหัวใจรั่ว เส้นเลือดเกิน หรือเป็นโรคหัวใจชนิดซับซ้อน เป็นต้น

สำหรับโรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลัง มีสาเหตุและปัจจัยที่แตกต่างกัน เช่น โรคหัวใจรูมาติก เกิดจากไข้รูมาติก ทำให้มีลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ ส่วนใหญ่พบในเด็กวัยเรียน, โรคคาวาซากิ มักพบในเด็กเล็กน้อยกว่า 5 ปี อาจพบการโป่งพองของเส้นเลือด เกิดเป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้, โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส สามารถทำให้เกิดอาการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ, โรคหัวใจวายจากการขาดวิตามินบี 1 ซึ่งหากรับประทานอาหารครบหมวดหมู่ ได้รับวิตามินครบถ้วนจะสามารถป้องกันโรคหัวใจนี้ได้

ความรุนแรงของโรคหัวใจในเด็กนั้นไม่เพียงแต่ทำให้เด็กมีพัฒนาการและการเจริญเติบโตที่ช้ากว่าวัย แต่อาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตลูกน้อย หากมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันที เนื่องจากเป็นสัญญาณของโรคหัวใจในเด็ก

1. หายใจหอบ เหนื่อยง่าย

2. เล็บหรือตัวเขียว

3. เจ็บหน้าอก ใจสั่น หน้ามืด หรือเป็นลมบ่อย ๆ

4. น้ำหนักไม่ขึ้นตามเกณฑ์ เจริญเติบโตช้า หรือพัฒนาการทางกล้ามเนื้อช้า

5. หัวใจลูกเต้นแรงและเร็วกว่าปกติ หากพ่อแม่ ผู้ปกครองคลำที่หน้าอกหรือดูที่หน้าอกจะพบว่าหัวใจเต้นเร็ว เต้นแรง

6. เสียงหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งสามารถตรวจโดยแพทย์เฉพาะทาง

ผู้ป่วยบางรายไม่มีอาการแต่แพทย์ตรวจพบเสียงหัวใจผิดปกติก็ควรได้รับการตรวจจากกุมารแพทย์โรคหัวใจ ทั้งนี้ โรคโดยส่วนใหญ่จะวินิจฉัยได้จากการทำคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (echocardiogram) เมื่อกุมารแพทย์โรคหัวใจตรวจวินิจฉัยพบว่าเด็กเป็นโรคหัวใจชนิดใดแล้ว จะสามารถวางแผนการรักษาโดยการให้ยารักษา การทำหัตถการเพื่อซ่อมแซมความผิดปกติ หรือการผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า ทำให้แพทย์สามารถทำการรักษาเด็กที่เป็นโรคหัวใจได้มากขึ้น ผลการรักษาดีขึ้น

ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองที่ดูแลเด็กที่ป่วยด้วยโรคหัวใจควรทราบถึงชนิดของโรคหัวใจชนิดนั้น ๆ รวมถึงมีความรู้และความเข้าใจในยาที่เด็กได้รับ รวมถึงการเฝ้าระวังโรคแทรกซ้อนและสังเกตอาการผิดปกติที่ต้องพามาพบแพทย์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *