การที่ลูกรักวัยซนจะมีสุขภาพดีได้นั้น หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญคือ อาหาร ต้องบริโภคให้ครบ 3 มื้อ มีสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ และมีปริมาณเหมาะสมตามความต้องการของร่างกาย เพื่อให้เด็กมีการเจริญเติบโตที่เหมาะสมตามวัย ปัญหาคือเด็กน้อยมักไม่ชอบกินผัก จึงนำไปสู่การขาดสารอาหาร!
ไม่อยากให้ลูกยี้การหม่ำผักจนสุ่มเสี่ยงต่อภาวะทุพโภชนาการ เรามีเทคนิคสอนลูกวัยซนกินผัก สรุปความจากคู่มือแนวทางการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเด็กวัยเรียนและเยาวชน กรมอนามัย มาฝาก
- ให้เห็นให้คุ้นให้ชิน การทำอาหารในครอบครัวควรให้มีผักทุกมื้อ เพื่อปลูกฝังนิสัยให้ลูกรู้สึกคุ้นเคย
- ให้เด็กมีบทบาทเป็นผู้ช่วย เช่น ร่วมจ่ายตลาด เพื่อสอนให้ลูกรู้จักผักหลากชนิด ให้ร่วมวางแผนจะกินอาหารอะไรในมื้อถัดไป การได้เรียนรู้นอกสถานที่ทำให้รู้สึกเข้าใจง่าย ซึมทราบโดยไม่รู้ตัว, สอนให้เด็กๆ ปลูกพืชผักสวนครัว จะทำให้เด็กๆ รู้จักรักและเห็นคุณค่าของสิ่งที่ตนเองปลูก, ให้ช่วยล้างผักอย่างถูกวิธี
- ทำกิจกรรมสนุกๆ ที่เกี่ยวข้องกับผัก กับเจ้าตัวซน เช่น ร้องเล่นเต้นระบำ โดยใช้เนื้อเพลงที่เกี่ยวข้องกับผัก เพื่อให้เด็กได้ซึมซับ, เล่านิทาน โดยเชื่อมโยงประโยชน์ของผักเข้ากับนิทาน, นำรูปผักน่ารักๆ ติดผนังในหลายๆ สถานที่ ที่เด็กสามารถเห็นได้ทุกเวลา, ของเล่นเด็กผู้หญิงควรหาเป็นของจำลองการทำอาหาร
- ต้นแบบต้องกิน พ่อแม่หรือทุกคนในครอบครัวต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการส่งเสริมลูกกินผัก ต้องกินผักให้เด็กเห็น ฝึกให้ลูกกินอาหารร่วมโต๊ะด้วยกันทุกครั้ง และบรรยากาศการกินควรสนุกสนานไม่ตึงเครียด
- รู้จัก รู้ใจแนะลูกกินผัก พ่อแม่ต้องช่างสังเกต ใส่ใจในรายละเอียดว่าลูกๆ ชอบกินผักแบบไหน เมื่อเด็กโตระดับอนุบาลหรือระดับประถม ต้องใช้การหั่นผักให้เป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อไม่ให้เด็กเขี่ยทิ้ง ตบแต่งให้มีรูปร่างน่ารัก เช่น รูปลูกเต๋า รูปสัตว์ต่างๆ การใช้ผักในอาหารต้องค่อยๆ ใส่ทีละน้อยและเพิ่มปริมาณมากขึ้น สิ่งสำคัญควรเลือกผักให้มีสีสันตัดกัน และค่อยๆ เปลี่ยนชนิดผักเพื่อสร้างการยอมรับมากยิ่งขึ้น
- ผักต้องสด ใหม่ ผักสดๆ จะกรอบและหวานตามธรรมชาติ หากเด็กได้กินผักสดที่มีการคัดสรรอย่างดี ย่อมสามารถสร้างการยอมรับได้มากยิ่งขึ้น ควรหลีกเลี่ยงผักกลิ่นแรงๆ ในช่วงฝึก หรือควรใส่ปริมาณน้อยๆ
- คำชมเชย ทุกครั้งที่ลูกสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ตลอดจนกินผักได้ ต้องกล่าวชมเชย ตบมือ การโอบกอด หรือแม้แต่การสัญญาการให้รางวัลที่ลูกต้องการ ซึ่งรางวัลนั้นควรเป็นการต่อยอดที่มีประโยชน์
ที่สำคัญ พ่อแม่ต้องไม่ลงโทษ ไม่ใช้อารมณ์บูดเบี้ยว หรือไม่ใช้การข่มขู่ให้เด็กกินผักบางชนิด เพราะจะเป็นการปลูกฝังภาพลบแก่เด็กทำให้ไม่ยอมกินผักชนิดนั้น