เมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าหนาว สำหรับเมืองไทยแล้วในตอนเช้าก็ร้อนซะจนผิวแสบไหม้ แต่พอตกดึกอากาศก็เย็นๆ หนาวๆ ชวนให้เป็นหวัด ช่วงนี้จึงมักเป็นไข้หวัดกันง่ายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่นอกจากโรคหวัดที่ฮิตกันแล้วยังมีโรคที่ไม่ได้เกิดกันบ่อยที่มักมากับหน้าหนาวที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำความรู้จักกันไว้แต่เนิ่นๆ ค่ะ
โรคหัด
พบมากในเด็กอายุตั้งแต่ 1-6 ขวบ ติดต่อได้จากการไอ จามรดกัน หรือได้รับละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย เข้าไป โรคหัดมักเกิดในช่วงฤดูหนาวยาวต่อช่วงฤดูร้อน ปัจจุบันมีวัคซีนสำหรับฉีดป้องกัน อาการของโรคหัดจะเริ่มจากมีไข้ น้ำมูก ไหล ไอ ตาแดง อาการจะรุนแรงมากขึ้น จนมีอาการปวดเมื่อยตัว ถ่ายเหลว ผื่นของไวรัสหัดจะขึ้นราววันที่ 4 หลังรับเชื้อ หลังจากนั้นไข้จะค่อย ๆ ลด เมื่อผื่นกระจายทั่วตัว
ระหว่างนั้นต้องระวังการเสียชีวิตจากภาวะโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ อุจจาระร่วง สมองอักเสบ และภาวะขาดสารอาหาร
โรคหัดเยอรมัน
เชื้อไวรัสหัดเยอรมัน ทำให้มีไข้ต่ำจนถึงไข้สูง มีผื่นแดงคล้ายหัด แต่ลักษณะผื่นจะใหญ่และเป็นกลุ่ม ๆ กระจายตัวห่างกว่า ในเด็กเล็กจะมีอาการไม่รุนแรงเท่าในผู้ใหญ่ โดยเฉลี่ยจะมีอาการประมาณ 1-5 วัน มีไข้ ผื่นแดงตามตัว อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร สิ่งสำคัญคือ ต้องระมัดระวังไม่ให้ติดเชื้อในระหว่างการตั้งครรภ์
โรคสุกใส (อีสุกอีใส)
พบว่ามักเกิดในเด็ก แต่พบได้น้อยในผู้ใหญ่ อาการแรกเริ่มจะมีไข้ต่ำ ๆ เหมือนไข้หวัด หลังจากนั้นจะมีผื่นแดง ตุ่มนูนขึ้น และจะเปลี่ยนเป็นตุ่มพองใสประมาณ 2-3 วันนับตั้งแต่เริ่มมีไข้ หลังจากนั้นตุ่มพองใสก็จะกลายเป็นตุ่มหนอง แล้วค่อย ๆ เริ่มแห้งตกสะเก็ด ทั้งนี้ ผื่นอาจขึ้นได้ในคอ ตา และปาก ทำให้กินอาหารได้น้อย เกิดอาการขาดน้ำ โดยทั่วไปหากได้รับการดูแลที่เหมาะสม โรคจะสามารถหายได้โดยตัวเองโดยไม่เกิดโรคแทรกซ้อน
โรคตาแดงหรือเยื่อบุตาอักเสบ
เป็นโรคที่พบได้บ่อยในหน้าหนาวเช่นกัน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสคนละชนิดกับโรคตาแดงที่เกิดขึ้นในหน้าร้อน การสัมผัสกับเชื้อมักเกิดจากมือที่สกปรก ไปหยิบจับ หรือสัมผัสกับขี้ตา น้ำตาของผู้ที่เป็นโรคแล้วมาป้ายตา ตัวเอง โรคตาแดงหรือเยื่อบุตาอักเสบสามารถระบาดได้ง่ายโดยเฉพาะในเด็กนักเรียน ส่วนการป้องกันให้หมั่นล้างมือให้สะอาด ไม่เอามือขยี้ตา ไม่คลุกคลีกับคนเป็นโรค เมื่อเป็นโรคควรหยุดงานหรือหยุดเรียน เพื่อไม่ไห้ติดต่อไปยังผู้อื่น
โรคผิวหนังแห้งอักเสบ
เมื่อผิวกระทบอากาศเย็น ทำให้มีความชื้นสัมพัทธ์น้อยและแห้ง การสูญเสียน้ำออกจากผิวหนังก็จะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผิวหนังเกิดปัญหาแห้งหยาบ เป็นขุย แตก ปัญหานี้ถือว่าเป็นปัญหาที่ก่อความรำคาญ เพราะเมื่อผิวแห้งมากจะรู้สึกคัน ยิ่งอากาศหนาวมาก ๆ จะยิ่งแสบร้อนและคัน หากดูแลไม่ดีอาจเกิดแผลอักเสบจากการเกาจนเลือดออก และมีสิ่งสกปรกเข้าแผลจนเกิดการติดเชื้ออักเสบขึ้นได้
การป้องกัน คือการรักษาความชุ่มชื้นจากภายในและภายนอกร่วมกัน โดยการดื่มน้ำและผลไม้ให้มากขึ้น เปลี่ยนรูปแบบและวิธีการอาบน้ำ โดยลดอุณหภูมิของน้ำลงไม่ควรอาบน้ำร้อนเกิน 34 องศาเซลเซียส ทามอยส์เจอร์ไรเซอร์หลังอาบน้ำ หากมีผิวแห้งมาก ๆ แนะนำให้ใช้น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์จะช่วยให้ผิวชุ่มชื้นได้นาน และหากผิวหนังแห้งอักเสบรุนแรงหรือคันมาก ๆ ให้รีบไปพบแพทย์ก่อนที่จะลุกลามค่ะ
รู้ทันโรคกันแล้วก็อย่าลืมป้องกันและดูแลรักษาสุขภาพกัยด้วยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ หลีกเลี่ยงสัมผัสกับผู้ป่วย ที่ไม่สบาย แล้วก็อย่าลืมหมั่นพบคุณหมอ ตรวจสุขภาพด้วย และฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ เช่น โรคสุกใส โรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม และไข้หวัดใหญ่ ตามที่คุณหมอนัดหมายด้วยนะคะ