หลายต่อหลายครังที่เราอยากจะให้ลูกทำและไม่ทำบางสิ่งบางอย่างที่เราพิจารณาแล้วว่าจะเกิดประโยชน์และโทษแกตัวลูกน้อย แต่บ่อยครั้งความอดทนในการอธิบายหรือหาทางให้ลุกยอมทำอย่างที่เราต้องการก็ไม่ได้ผล จนคุณพ่อคุณหลายคนหาทางออกด้วยการขู่หรือหลอกให้ลูกกลัวแล้วเชื่อเพราะความกลัว
เช่น…
– ถ้าไม่เชื่อ เดี๋ยวให้ตำรวจมาจับนะ
– อย่านอนกิน เดี๋ยวเป็นงูนะ
– รีบนอนได้แล้ว เดี๋ยวผีมาหลอกนะ
– ถ้ายังไม่ยอมทำการบ้านพรุ่งนี้จะบอกให้คุณครูตี
ลูกอาจจะยอมนอน เพราะกลัวผีมาหลอก หรืออาจจะหยุดร้องเพราะกลัวตำรวจมาจับ แต่สิ่งหนึ่งที่ฝังลงไปในความรู้สึกของลูก คือ ‘ความรู้สึกกลัวอย่างไร้เหตุผล’ ในขณะที่ เหตุผล คือสิ่งที่พ่อแม่ต้องปลูกฝังลูกตั้งแต่วัยนี้ด้วยเช่นกันเพื่อให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีเหตุผลและมีสมดุลทางอารมณ์
วิธีการขู่เหล่านี้อาจจะได้ผล แต่ก็สร้างความเสียหายมากมายตามมา
- ความกลัว (FEAR) เป็นอุปสรรคต่อความเข้มแข็งของเด็ก
- ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในจิตใจ ว้าวุ่น หวาดกลัว ไม่มั่นใจในตัวเอง
- อาจเป็นผลเสียต่อสุขภาพจิต นำไปสู่ผลเสียต่อสุขภาพทางกาย
- ความกลัวอย่างไร้เหตุผล ส่งผลต่อพัฒนาการทางด้านอารมณ์และจิตใจของลูกโดยตรง
- ในวัยที่จินตนาการกำลังเบ่งบาน ความกลัวนั้นจะฝังแน่นในความรู้สึกมากกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า และด้วยความอ่อนด้อยประสบการณ์ ทำให้การใช้เหตุผลของลูกยังไม่ดีพอ โอกาสที่ดีกรีความกลัวจะพลุ่งพล่านจึงมีมากขึ้น
- หากลูกมีความกลัวอย่างรุนแรง เมื่อต้องอยู่ในภาวะเช่นนั้นนาน ๆ อาจทำให้เกิดอาการทางประสาทได้ เช่น เด็กที่กลัวความมืด หากให้อยู่ในห้องมืดคนเดียว จะเกิดความเครียด นอนไม่หลับในเวลากลางคืน หัวใจจะเต้นเร็ว
- หากเราหลอกให้ลูกกลัวอย่างไร้เหตุผล ความกลัวนี้จะติดไปจนกระทั่งเขาโต และกลายเป็นผู้ใหญ่ที่กลัวในสิ่งที่ไม่น่าจะกลัว
- เป็นการตอกย้ำให้พัฒนาการทางด้านอารมณ์ จิตใจของลูกย่ำอยู่กับที่
ดังนั้น เราควรอธิบายในสิ่งที่เราไม่อยากให้ลูกทำอย่างใจเย็น ด้วยเหตุและผล และต้องพยายามเลี้ยงลูกอย่าให้เป็นคนขลาดกลัวอะไรโดยไม่มีเหตุผล