เด็กวัย 3-6 ปีจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นปีละ 2-2.5 กิโลกรัม และส่วนสูงจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 6-8 เซนติเมตร เด็กจะต้องได้รับสารอาหารในปริมาณที่พอเพียงทั้งชนิดและปริมาณ ดังนั้น หากต้องการส่งเสริมสุขภาพเด็ก พ่อแม่ต้องใส่ใจเรื่องอาหารของลูก รวมถึงดูแลให้เจ้าตัวซนออกกำลังกายอย่างเหมาะสมตามวัย
ข้อควรรู้เพื่อการส่งเสริมสุขภาพเด็กด้วยอาหารและการออกกำลังกาย
1. ความต้องการสารอาหารของเด็กแต่ละคนในช่วงนี้จะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับอัตราการเจริญเติบโตของเด็กแต่ละคน ระดับกิจกรรมที่ทำ และขนาดร่างกายของเด็ก
2. หากเด็กได้รับสารอาหารต่างๆ ไม่เพียงพอ จะส่งผลให้การเจริญเติบโตช้า กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง ภูมิต้านทานต่ำ เกิดภาวะโลหิตจาง แต่ถ้าได้มากเกินไป ก็ทำให้มีน้ำหนักเกิน เกิดโรคอ้วน ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพด้านร่างกายและจิตใจ
3. เด็กวัยนี้ควรกินอาหารหลัก 3 มื้อ โดยกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และมีอาหารที่หลากหลายในแต่ละหมู่ สำหรับอาหารจำพวกโปรตีน ควรให้เด็กรับประทานเนื้อสัตว์ชนิดเนื้อแดง เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ เพื่อจะได้รับธาตุเหล็ก นอกจากนี้อาหารที่กินไม่ควรจะเป็นอาหารที่มีรสจัด กล่าวคือ หวานจัด เค็มจัด หรือมันจัดจนเกินไป รวมทั้งควรส่งเสริมให้เด็กกินผักผลไม้เป็นประจำ ดื่มนมรสจืดวันละ 2-3 แก้วหรือกล่องเป็นอาหารว่างระหว่างมื้ออาหารหรือกินอาหารที่เป็นแหล่งของแคลเซียม เช่น ผลิตภัณฑ์จากนมจำพวกชีส ปลาเล็กปลาน้อยที่กินได้ทั้งกระดูก เต้าหู้ ผักใบเขียว เป็นต้น เพื่อให้ได้รับแคลเซียมในปริมาณเพียงพอ และควรให้ออกกำลังหรือ วิ่งเล่นกลางแจ้งบ้าง เพื่อร่างกายจะได้สร้างวิตามินดีจากแสงแดด ซึ่งจะช่วยในการดูดซึมและสะสมของแคลเซียมในกระดูก
4. ต้องดูแลการกินของเด็กให้ถูกสุขอนามัย ได้แก่ กินอาหารปรุงสุกและสะอาด ล้างมือก่อนกินอาหาร ใช้ภาชนะที่สะอาด
5. การประเมินภาวะโภชนาการ ทำโดยการวัดส่วนสูงและชั่งน้ำหนัก แล้วนำมาเทียบกับเกณฑ์อ้างอิง โดยแยกตามอายุและเพศ เป็นดัชนีบ่งชี้ว่าการเจริญเติบโตทางด้านน้ำหนักเหมาะสมกับอายุหรือไม่ ถ้าร่างกายขาดสารอาหารหรือเจ็บป่วยจะมีผลกระทบทำให้น้ำหนักลดลงก่อน แต่ถ้าขาดอาหารเรื้องรังเป็นระยะเวลานาน จะมีผลต่อความสูงของเด็กด้วย จึงควรติดตามการเจริญเติบโตของเด็กอย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและเหมาะสม
6. การออกกำลังกายในวัย 3-6 ปีจะเป็นรากฐานสำคัญต่อชีวิตเด็กไปตลอด การออกกำลังกายจะส่งเสริมการพัฒนาระบบประสาท กระดูกและกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องทั้งกล้ามเนื้อมัดใหญ่และกล้ามเนื้อมัดเล็ก นอกจากนี้ยังกระตุ้นการทำงานของสมอง ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาความสามารถรอบด้านทั้งทางร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา
7. เด็กวัยนี้ต้องการการเล่นอิสระกลางแจ้งอย่างน้อยวันละ 30 นาที และไม่ควรปล่อยให้เด็กอยู่กับสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นเวลานาน เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน จนขาดโอกาสออกกำลังกาย
8. เด็กวัยนี้มีการพัฒนาการทำงานของกล้ามเนื้อที่ดีขึ้น เคลื่อนไหวได้เร็วและคล่องแคล่ว ทรงตัวได้ดี รับและส่งบอลได้ตรงเป้าหมาย กระโดดได้ไกล ปีนป่ายได้เก่ง ประกอบกับการเล่นเป็นธรรมชาติของเด็กวัยนี้ จึงมักจะมีแรงจูงใจในการออกกำลังกายอยู่แล้ว ขอเพียงได้รับการส่งเสริมจากพ่อแม่และครูจัดกิจกรรมให้ได้ออกกำลังกาย เด็กมักจะร่วมมือได้ไม่ยาก
9. สิ่งที่ควรคำนึงถึงในการออกกำลังกายของเด็กวัยอนุบาล คือ ความปลอดภัยของเครื่องเล่นและสิ่งแวดล้อมที่เด็กเล่น และไม่ควรให้เด็กเล่นติดต่อกันนานเกิน 30 นาทีเพราะจะทำให้กล้ามเนื้อล้าและเกิดอุบัติเหตุจากการหกล้มได้ง่าย
10. ไม่ควรให้เด็กออกกำลังกายในขณะที่อากาศร้อนเกินไป และควรให้เด็กได้พักดื่มน้ำประมาณ ½ – 1 แก้วเป็นระยะเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำจากการออกกำลังกาย และควรหยุดกิจกรรมเมื่อเด็กแสดงอาการอ่อนเพลียหรือเหนื่อยจากการเล่น
ทั้งนี้ พ่อแม่ควรสังเกตความผิดปกติของร่างกายเด็ก เช่น การหายใจหอบหรือหายใจแรงหรือได้ยินเสียงวี้ดๆ อาการเหนื่อยหอบและริมฝีปากเขียวคล้ำขณะออกกำลังกาย หากพบอาการเหล่านี้ต้องพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา