สร้างอีคิวให้ลูก ด้วยทริคปรับนิสัยเสียของพ่อแม่

0

อีคิว (EQ) หรือ ความฉลาดทางอารมณ์ ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นเอง แต่เป็นสิ่งที่พ่อแม่สามารถสร้างให้ลูกโดยให้ความใกล้ชิด มีเวลาเพียงพอที่จะอบรมสั่งสอนและให้การฝึกหัดแก่ลูก อย่างไรก็ตาม พ่อแม่อาจไม่รู้ตัวว่านิสัยหรือวิธีการเลี้ยงลูกบางอย่างของตนเองนั้น ส่งผลเสียต่อการสร้างอีคิวลูก

เชื่อกันว่าสองปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้คน ๆ หนึ่ง เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ คือ IQ และ EQ โดย “ไอคิว” (IQ : Intelligence Quotient) หรือ ระดับสติปัญญาด้านความรู้ความสามารถ ซึ่งก็คือความฉลาดทางเชาวน์ปัญญา ส่วนอีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้ คือ “อีคิว” (EQ : Emotional Quotient) หรือ ระดับความฉลาดด้านอารมณ์ เป็นความสามารถในการรับรู้และเข้าใจอารมณ์ทั้งของตัวเองและผู้อื่น ตลอดจนสามารถปรับหรือควบคุมได้อย่างเหมาะสมกับสภาพการณ์

ความรู้สึกทนลูกผิดหวังไม่ได้ และอาการใจร้อนของพ่อแม่เป็นความรู้สึกธรรมดา ที่มักเกิดขึ้นในพ่อแม่ยุคนี้จำนวนมาก เนื่องจากพ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะทำงานนอกบ้าน และทำงานทั้งคู่ รวมทั้งการมีลูกน้อย เพียง 1-2 คน จึงตามมาด้วย

– ความรู้สึกผิดที่ตัวเองไม่มีเวลาให้ลูก จึงมักชดเชยความผิดด้วยการตามใจลูก ให้วัตถุทุกสิ่งที่ลูกต้องการ

– การที่เร่งรีบตลอดเวลาในการดำรงชีวิต ทำให้พ่อแม่ไม่มีความอดทนหรือใจเย็นพอที่จะรอคอยให้ลูกทำอะไรด้วยตัวเอง

– พ่อแม่จำนวนมากเติบโตมาจากวัยเด็กที่ยากลำบาก ขาดแคลน อยากได้อะไรก็ไม่ได้ จึงมักชดเชยความขาดแคลนในวัยเด็กของตัวเอง ด้วยการตามใจลูกและให้วัตถุกับลูกมาก ประกอบกับการมีลูกน้อย จึงยิ่งทุ่มเทความรักให้กับลูกมาก โดยเข้าใจว่าการให้ความรักคือ การให้ลูกสุขสบายและให้สิ่งที่ดีที่สุดกับลูก

สิ่งเหล่านี้ผลักดันให้พ่อแม่เป็นโรคกลัวลูกผิดหวัง และเลี้ยงดูลูกอย่างตามใจโดยไม่รู้ตัว การให้ความรักที่ไม่ถูกต้อง กลับกลายเป็นการขัดขวางการพัฒนาความสามารถทางอารมณ์ของลูก หากพ่อแม่ตระหนักรู้เองได้ ก็เท่ากับพ้นจากหลุมพรางของตนเอง และระมัดระวังมากขึ้นในการเลี้ยงดูลูก

การแก้ไข ให้เริ่มที่ตัวพ่อแม่เอง โดยมีแนวทางปฏิบัติดังต่อไปนี้

– ให้ระมัดระวังและหักห้ามใจตัวเองมากขึ้น อย่าควักกระเป๋าหรือโอนเงินให้ลูกง่ายเกินไป อดทนให้ลูกพบกับความผิดหวังเล็ก ๆ น้อย ๆ บ้าง รู้จักปฏิเสธบ้าง เมื่อลูกร้องขอสิ่งที่ไม่สมควร โดยไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดใด ๆ และขอให้เชื่อในความเป็นพ่อแม่ ที่ย่อมมีสิทธิอันชอบธรรมในการจัดการและการควบคุมพฤติกรรมของลูก

– การฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง โดยพ่อแม่หัดอนทนและใจเย็นกับลูกมากขึ้น แม้ว่าลูกอาจจะทำช้าไปบ้าง หรืออาจทำไม่ได้ดีอย่างใจพ่อแม่ อย่าไปตำหนิ ไปดุว่าลูก ให้คิดว่าลูกกำลังเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบตนเอง

– ให้เริ่มต้นการจัดทำตารางกิจกรรมให้ลูก ในเด็กเล็ก พ่อแม่เริ่มด้วยการกำหนดเวลาในแต่ละวัน ว่าควรทำอะไร เวลาใดบ้าง ในเด็กโตให้ทำความตกลงกับลูกด้วยเหตุผลว่าเขาควรทำอะไร เวลาใด และชี้ให้เห็นประโยชน์ของการกระทำ เพื่อจูงใจให้ลูกทำตาม การให้ลูกเรียนรู้ระเบียบวินัย และฝึกหัดควบคุมตนเอง จะเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาอีคิวลูกต่อไป

กล่าวได้ว่า วิธีการเลี้ยงลูกที่เหมาะสม ที่จะสร้างอีคิวให้แก่ลูก คือ การเลี้ยงดูแบบให้เหตุผล ไม่ใช้การควบคุมหรือออกคำสั่ง มีความพอดีและยืดหยุ่น กล่าวคือ ไม่เข้มงวดเกินไปจนเด็กกลัว ไม่กล้าทำอะไร หรือปล่อยจนเสียเด็ก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *