รู้ไว้ไม่พลาดกับ 5 โรคระบาดช่วงเปิดเทอมที่ต้องพร้อมรับมือ

0

โรงเรียนนับเป็นสถานที่สำคัญที่ต้องเฝ้าระวังโรคต่างๆ เนื่องจากเป็นที่รวมตัวของเด็กจำนวนมาก บางครั้งอาจมีความใกล้ชิดหรือสัมผัสกับเชื้อโรคได้ง่าย เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรค พ่อแม่ควรให้ความรู้เจ้าตัวซนในเรื่องของสุขอนามัยและการป้องกันตัวจากโรคต่างๆ โดยเฉพาะ 5 โรคที่มักระบาดช่วงเปิดเทอมเหล่านี้

1. ไข้หวัดใหญ่

มักระบาดในช่วงฤดูฝน โดยตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วย จำนวน 144,574 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็กและกลุ่มวัยเรียน ได้แก่ อายุแรกเกิด – 4 ปี (15%) และอายุ 10-14 ปี (14%) โรคไข้หวัดใหญ่ในเด็กอันตรายมากกว่าไข้หวัดธรรมดา บางคนมีอาการรุนแรงจนเสียชีวิต อาการของโรคคล้ายไข้หวัดธรรมดา มีไข้ ตัวร้อน น้ำมูกไหล แต่มีความรุนแรงและมีโอกาสพัฒนาสู่ภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ภาวะขาดน้ำ การติดเชื้อแบคทีเรียในอวัยวะต่างๆ ทั้งนี้สามารถป้องกันโรคได้ด้วยการฉีดวัคซีน

2. โควิด 19

ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานโดยเฉพาะเรื่องสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด หากไปในสถานที่ปิดหรือแออัด ควรสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ หากเด็กป่วย แม้มีอาการเล็กน้อย เช่น ไข้ต่ำๆ ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล แต่ยังรับประทานอาหารได้ ยังร่าเริงดี ต้องให้เด็กหยุดเรียนและดูแลบุตรหลานที่บ้าน รักษาตามอาการจนกว่าจะหายป่วย หากอาการหนัก หรืออาการไม่ดีขึ้น เช่น ไข้สูงเกิน 2-3 วัน หายใจเร็ว หายใจหอบ ไม่กินนม/น้ำ ไม่ร่าเริง ให้รีบพาไปพบแพทย์

3. ไข้เลือดออก

เป็นโรคที่มีการระบาดทุกปีในช่วงฤดูฝน เนื่องจากมีน้ำขัง ทำให้ยุงลายแพร่พันธุ์ได้มากขึ้น โดยตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วย 27,334 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็ก 5-14 ปี จำนวน 8,033 ราย สาเหตุของโรค มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยนำเชื้อไวรัสเด็งกี่มาแพร่เชื้อให้ผู้ที่ถูกกัด อาการของผู้ป่วย คือ มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว ผื่น มีจุดแดงตามผิวหนัง ซึม อ่อนเพลีย ทั้งนี้ หากเด็กมีอาการไข้สูง ยาลดไข้ที่ปลอดภัยคือพาราเซตามอล และหากไข้ไม่ลดใน 1-2 วัน ควรรีบพาไปพบแพทย์

4. โรคมือ เท้า ปาก

โรคนี้ติดต่อจากการได้รับเชื้อไวรัสเข้าทางปาก โดยเชื้อติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จาม รดกัน เป็นโรคติดต่อที่พบบ่อยในเด็ก มักระบาดในช่วงฤดูฝน ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็ก จะมีอาการไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ตุ่มแผลในปาก ร่วมกับอาจมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า หากอาการรุนแรง จะมีไข้ขึ้นสูง ซึมลง ชักเกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ซึ่งผู้ปกครองต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว รวมถึงให้หยุดเรียนจนกว่าจะหาย

5. ท้องร่วงเฉียบพลัน จากการติดเชื้อ

ส่วนใหญ่มักเกิดจากเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย เกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะในเด็กวัยเรียน พบการระบาดได้ตลอดทั้งปี พื้นที่ที่มีคนอาศัยอยู่รวมกัน เช่น โรงเรียน จะเกิดการระบาดได้ง่าย ผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายเหลว ถ่ายเป็นน้ำ อาเจียน ปวดท้อง สำหรับการป้องกันโรคทำได้โดยรับประทานอาหารปรุง สุก ใหม่ อาหารที่เก็บไว้นานเกิน 2 ชม. ต้องนำมาอุ่นร้อนก่อนกิน สอนให้เด็กล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ และก่อนหยิบจับอาหาร หากป่วยควรหยุดเรียนจนกว่าจะหาย

ย้ำกันอีกครั้ง หากเจ้าตัวซนหรือผู้ปกครอง มีอาการเสี่ยงติดเชื้อ ต้องหยุดอยู่บ้าน ไม่พาไปโรงเรียน และอาจไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา รวมถึงแจ้งให้คุณครูทราบโดยเร็ว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *