“สายตาสั้น” เป็นภาวะที่เกิดจากลูกตายาวกว่าคนปกติทั่วๆ ไป ต้องใส่แว่นเลนส์เว้าเพื่อดึงภาพให้ไปตกลงที่จุดรับภาพตรงจอประสาทตาพอดี จึงจะเห็นภาพชัด “เด็กสายตาสั้น” เป็นปัญหาสายตาที่พวกเขาอาจไม่รู้ตัว ฉะนั้นพ่อแม่ควรหมั่นสังเกตเจ้าตัวซนและทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับปัญหา “สายตาสั้น” ในเด็ก
ในส่วนของความเข้าใจผิดเกี่ยวกับปัญหาสายตาสั้นในเด็ก เราได้รวบรวมคำถามพร้อมคำตอบที่น่าสนใจ สรุปความจาก คู่มือการตรวจคัดกรองสุขภาพและการดูแลปัญหาที่พบบ่อยในเด็กวัยเรียนสำหรับครูและพยาบาลอนามัยโรงเรียน
Q : ถ้าเด็กสายตาสั้นแต่ไม่ได้รับการวินิจฉัย จะมีผลเสียหรือไม่อย่างไร?
A : อาจทำให้เกิดมีปัญหาตาขี้เกียจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายตาสั้นว่ามากน้อยเพียงใดถ้ายังพอมองเห็นใกล้ๆ มีการพัฒนาของสายตาได้ ก็ไม่มีตาขี้เกียจ หรือสายตาสั้นสองข้างต่างกันมากหรือไม่ ถ้าต่างกันเกิน 3 ถึง 4 ไดออปเตอร์หรือ 300-400 ขึ้นไปตาข้างที่สั้นกว่ามากก็มีโอกาสที่จะมี ตาขี้เกียจ ถ้าเกิน 7-8 ขวบไปแล้ว การรักษาก็จะยากขึ้นและได้ผลช้า ดังนั้นควรให้เด็กได้รับการตรวจวัดสายตาก่อนเข้าโรงเรียนทุกคน
Q : ถ้าตรวจพบว่ามีสายตาสั้นแล้วจะทำอย่างไร?
A : ให้ใส่แว่นตามที่วัดได้ ให้เด็กปรับตัวเข้ากับแว่นสักระยะประมาณ 3-6 เดือน แล้ววัดความสามารถในการอ่าน ถ้าอ่านได้ดีพอๆ กันทั้งสองตาก็ให้ใส่แว่นไปเรื่อยๆ ถ้าตาใดตาหนึ่งอ่านได้ดีกว่า ก็ต้องทำการปิดตารักษาตาขี้เกียจ ในกรณีที่เด็กโตพอที่จะดูแลความสะอาดได้ และไม่ชอบใส่แว่น อาจใช้คอนแทคเลนส์ได้
Q : ดูโทรทัศน์นานๆ เป็นสาเหตุของสายตาสั้นหรือไม่?
A : ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าจะมีผลชัดเจน อย่างไรก็ตามควรให้ลูกดูโทรทัศน์ห่างอย่างน้อย 2-3 เมตร ขึ้นไปและไม่ควรดูมากหรือไม่ควรเกิน 1 ช.ม./วัน เพราะอาจมีผลกระทบต่อกิจกรรมการเรียนได้
Q : เล่นกีฬากลางแจ้งช่วยป้องกันสายตาสั้นได้หรือไม่?
A : ยังไม่มีการพิสูจน์ชัดเจนว่าการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานานจะช่วยป้องกันการเกิดสายตาสั้น หรือทำให้สายตาสั้น สั้นขึ้นน้อย เป็นไปได้ว่าเด็กที่ชอบเล่นกีฬากลางแจ้งจะทำให้ใช้เวลาหมกมุ่นอยู่กับการเล่นเกมส์หรือเล่นคอมพิวเตอร์ลดลง
การใช้สายตาที่ใกล้นานๆ เช่น อ่านหนังสือ เล่นคอมฯ มีส่วนทำให้สายตาสั้น หรือสั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าคนที่ใช้สายตาน้อย ดังนั้นหากใช้สายตาในระยะใกล้นานๆ ทุก 1 ชั่วโมง ควรพัก 3-5 นาทีนะคะ