ปัญญาหนึ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ที่เราสามารถพบหรือสังเกตได้จากความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตัวเด็กได้นั้น ก็คือในเรื่องของสมาธิ ปัจจุบันมักพบเด็กที่มีปัญหาในเรื่องของสมาธิสั้น ซึ่งพบได้บ่อยขึ้นจากสาเหตุมากมาย ทั้งสภาพแวดล้อม พันธุกรรม ยีน เปลือกสมองเติบโตช้ากว่าเด็กทั่วไป
ปัญหาสมาธิสั้นที่เกิดกับเด็กนั้นได้สร้างความหนักใจและส่งผลต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ในการดำเนินชีวิต แต่ก็ไม่เท่าในเด็กที่มีปัญหาสมาธิสั้น เพราะปัญหานี้ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตโดยตรงต่อเด็ก ที่ต้องมีกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ วัยเดียวกัน หรือในเพื่อนร่วมชั้นเรียน ซึ่งหากพ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่รอบข้างตัวเด็กไม่เข้าใจ และไม่พยายามที่จะหาทางแก้ไขให้กับเด็กได้อย่างถูกวิธี ย่อมส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการดำเนินชีวิตต่อไปในอนาคตอย่างมากแน่นอน
วิธีสังเกตอาการว่าลูกเป็นเด็กสมาธิสั้นหรือไม่นั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้เองก่อนที่จะนำข้อสงสัยนี้ไปปรึกษาต่อยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในการดำเนินการรักษาบำบัดอาการสมาธิสั้นให้ดีขึ้น
ซึ่งอาการของกลุ่มเด็กสมาธิสั้น สามารถที่จะสังเกตได้อยู่ 3 กลุ่มหลักๆ คือ…
- อาการซนมากกว่าปกติ (Hyper Activity) ลักษณะความซนจะมากกว่าเด็กทั่วๆ ไป ซนชนิดที่ไม่ยอมอยู่นิ่ง ลุกลี้ลุกลนอยู่ตลอดเวลา ไม่สนใจที่จะเล่นให้จบเป็นอย่างๆ ไป เล่นอันนี้แล้วก็วิ่งไปเล่นอันโน้นต่ออยู่ตลอดเวลา
- มีความวอกแวกง่าย แม้แต่สิ่งเร้าเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้เด็กเสียสมาธิได้ง่ายๆ นอกจากนั้นยังแสดงออกในรูปของการทำงานไม่ค่อยสำเร็จ กว่าจะเสร็จได้ต้องใช้เวลานานมาก
- อาการหุนหันพลันแล่น (Impulsive) เด็กมักจะแสดงออกในลักษณะที่รอคอยไม่เป็น เช่น เวลาที่พ่อแม่คุยกัน เด็กก็จะพูดแทรกขึ้นมา หรือเวลาที่พาไปข้างนอกด้วย ก็มักที่จะชอบวิ่งไปดูนั่นดูนี่ บอกให้รอให้เข้าแถวก็มักที่จะวิ่งผลีผลามออกไป
ในปัจจุบันนี้ได้มีการรักษา หรือบำบัดกลุ่มเด็กที่มีปัญหาเรื่องของสมาธิสั้นออกมาในหลายๆ รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยการใช้ยา การรักษาด้วยการใช้วิธีการบำบัดทั้งในรูปแบบของ อาชาบำบัด ศิลปะบำบัด วารีบำบัด และดนตรีบำบัด ฯลฯ
ซึ่งวิธีต่างๆ เหล่านี้มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ เพื่อต้องการให้กลุ่มเด็กที่มีปัญหาสมาธิสั้นได้มีอาการที่ดีขึ้น จนสามารถใช้ชีวิต และดำเนินกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับคนอื่นๆ ได้เป็นปกติค่ะ