
หลังจากการอุบัติและแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเห็นว่าการหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคและดูแลสุขภาพอย่างเคร่งครัดเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะช่วยให้อยู่รอดได้ ล่าสุด WHO ได้ประกาศเฝ้าระวังโรคตับอักเสบระบาดรุนแรงในเด็ก ว่าแล้วก็มาทำความรู้จักเพื่อพร้อมรับมือ “โรคตับอักเสบเฉียบพลันในเด็ก” กันเถอะ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ องค์การอนามัยโลกได้ออกประกาศแจ้งเตือน พบว่ามีผู้ป่วยเด็กเป็นตับอักเสบเฉียบพลันเพิ่มสูงขึ้นโดยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยเด็กที่อายุน้อยกว่า 10 ปี มีอาการท้องเสีย อาเจียน มักไม่มีไข้ ต่อมาพบว่ามีตับอักเสบรุนแรงตามมา และพบว่าร้อยละ 10 ของผู้ป่วยเกิดภาวะตับวายตามมา โดยสาเหตุไม่ได้เกิดจากไวรัสตับอักเสบชนิดเอ หรือไวรัสตับอักเสบชนิดอี โดยหนึ่งในสามของผู้ป่วยตรวจพบการติดเชื้อ Adenovirus และในผู้ป่วยบางรายมีการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ร่วมด้วย
ไวรัสอะดีโน (Adenovirus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งติดต่อโดยการสัมผัสใกล้ชิด ละอองฝอยของสิ่งคัดหลั่งทางระบบทางเดินหายใจ สัมผัสจากสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยมีเกือบ 50 สายพันธุ์ Adenovirus เป็นไวรัสที่ส่งผลให้เกิดโรคได้ในหลายระบบของร่างกาย มีอาการได้ตั้งแต่เป็นไข้หวัด คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ท้องเสีย ตาแดง ความรุนแรงมีได้ตั้งแต่น้อยจนถึงรุนแรงมาก โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยเด็กมักมาด้วยอาการทางระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก
โดยทั่วไป Adenovirus ไม่ทำให้เกิดตับอักเสบในเด็กที่มีภูมิคุ้มกันปกติ จึงมีข้อสันนิษฐานว่าในช่วงการระบาดของโรคโควิดที่ผ่านมา ทำให้ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ Adenovirus ในเด็กน้อยลง เนื่องจากการติดเชื้อลดลง หรืออาจมีการกลายพันธุ์ของเชื้อ Adenovirus หรืออาจเกี่ยวข้องกับเชื้อโควิด ทำให้ผู้ป่วยเด็กที่มีภูมิคุ้มกันปกติเมื่อติดเชื้อ Adenovirus แล้วเกิดตับอักเสบรุนแรงตามมาได้
โรคตับอักเสบเฉียบพลัน คือ ภาวะที่มีการอักเสบของตับอย่างเฉียบพลัน โดยผู้ป่วยมักมีอาการไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีซีด โดยสาเหตุของตับอักเสบเฉียบพลันในเด็ก อาจเกิดจากการติดเชื้อ เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิดเอ ไวรัสตับอักเสบชนิดอี ไข้เลือดออก ยา/ สารพิษ ภูมิคุ้มกันทำลายตับ หรือโรคพันธุกรรมทางตับ เป็นต้น
สำหรับการรักษาโรคตับอักเสบเฉียบพลันในเด็กนั้น ขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลัน ส่วนตับอักเสบเฉียบพลันซึ่งเกิดจากการติดเชื้อ Adenovirus นั้น การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ ไม่มียารักษาเฉพาะ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงจนเกิดภาวะตับวาย ผู้ป่วยมักมีการเปลี่ยนแปลงของระดับการรับรู้ ซึมลง เลือดออกผิดปกติ และอาจเสียชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับการปลูกถ่ายตับ ขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่าพบการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบจากการติดเชื้อ Adenovirus ในประเทศไทย
ในส่วนของวิธีป้องกันการติดเชื้อ Adenovirus ที่ดีที่สุด คือ การล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ และรักษาความสะอาดภายในบ้าน อาทิ เช็ดโต๊ะ เช็ดเก้าอี้ ของเล่นของลูก และไม่พาลูกไปในแหล่งชุมชนที่มีคนแออัด