รู้จัก…ภาวะกล้ามเนื้ออัมพาตอ่อนปวกเปียกแบบเฉียบพลันในเด็ก

0

จากข้อมูลของประเทศไทยพบผู้ป่วยกล้ามเนื้ออัมพาตอ่อนปวกเปียกแบบเฉียบพลัน ได้ประมาณ 0.18 รายต่อประชากร 1 แสนคน พบเพศชายได้บ่อยกว่าเพศหญิงเล็กน้อย ซึ่งความรุนแรงของโรคอาจทำให้เด็กกล้ามเนื้อผิดรูป พิการ หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ ว่าแล้วมาทำความรู้จักโรค AFP ให้มากขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมรับมือและป้องกันโรค

ภาวะกล้ามเนื้ออัมพาตอ่อนปวกเปียกแบบเฉียบพลัน Acute Flaccid Paralysis (AFP) คือ อาการอ่อนแรงที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันกับกล้ามเนื้อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายในเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรง ของแขน ขา หรือ ทั้งขาและแขน ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ซึ่งอาการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ยกเว้น ผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บรุนแรง (Trauma) ซึ่งนำไปสู้อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง

ผู้ป่วยโรค AFP นี้ จะเริ่มมีอาการคล้ายกับเป็นโรคหวัด นำมาก่อนได้นานหลายวัน อาจถึง 10 วัน อาการที่พบบ่อย ได้แก่

มีไข้ ปวดเมื่อย เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดต้นคอ แล้วตามมาด้วยอาการปวดกล้ามเนื้อรุนแรง กล้ามเนื้ออ่อนแรงแบบปวกเปียก คือ ไม่มีความตึงตัวของกล้ามเนื้อ และตรวจพบรีเฟล็กซ์ลดลง สำหรับผู้มีโอกาสสูงที่จะเกิดโรค AFP สูง ได้แก่ ผู้ซึ่งไม่ได้รับวัคซีนต่างๆ ครบตามกำหนด โดยเฉพาะวัคซีนโปลิโอ

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์ หากมีไข้นานมากกว่า 3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือเมื่อเริ่มมีอาการปวดกล้ามเนื้อมาก ไม่ตอบสนองต่อการทานยาแก้ปวด ไม่ควรรอจนอาการเป็นมาก เพราะจะล่าช้าเกินไป ในส่วนของการรักษาที่สำคัญในโรคAFP คือ

– การประเมินความรุนแรงของอาการว่ามีปัญหาด้านการหายใจล้มเหลวหรือไม่ ถ้ามี ต้องรีบรักษาด้วยการใส่ท่อและเครื่องช่วยหายใจ

– การแก้ไขอาการปวด

– การทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง

โดยทั่วไปแล้วการรักษาส่วนใหญ่ในโรคAFP จะได้ผลดี อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่ต้องรักษาต่อเนื่องด้วยการทำกายภาพบำบัดเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน และการฟื้นฟูสภาพกล้ามเนื้อ อย่างไรก็ตาม ภาวะกล้ามเนื้ออัมพาตอ่อนปวกเปียกแบบเฉียบพลันนี้ทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ดีเหมือนกับคนทั่วไป ครอบครัวและผู้ดูแลต้องคอยให้กำลังใจ คอยดูแลใกล้ชิด ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นกับผู้ป่วย

วิธีป้องกันภาวะกล้ามเนื้ออัมพาตอ่อนปวกเปียกแบบเฉียบพลันที่ดีที่สุด คือ การให้เด็กได้รับวัคซีนสำคัญครบถ้วนตามเวลาตามอายุ โดยผู้ปกครองต้องให้ความใส่ใจในเรื่องการให้วัคซีนกับลูกหลานอย่างเคร่งครัด อย่าคิดว่าไม่เป็นไร ต้องได้รับวัคซีนตามกำหนดเวลา ไม่ล่าช้า การได้รับวัคซีนช่วยให้เด็กมีภูมิคุ้มกันต่อโรคต่างๆ หากไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับไม่ทัน มีอาการของโรคนั้นก่อน การรักษาจะยุ่งยาก ใช้เวลานาน และมีโอกาสที่จะไม่หายสนิทเหมือนเดิม

ย้ำกันอีกครั้ง ภาวะกล้ามเนื้ออัมพาตอ่อนปวกเปียกแบบเฉียบพลันเป็นภาวะที่ป้องกันได้ โดยการให้เด็กทุกคนได้รับวัคซีนต่างๆ ตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *