ช่วงแรกเกิดถึง 5 ปีเป็นช่วงที่สมองมีการพัฒนาอย่างมาก เด็กจะซึมซับสิ่งที่ได้เรียนรู้จากผู้ใหญ่ จากการที่เห็นแบบอย่างที่พ่อแม่กระทำและฝึกฝนให้เด็กกระทำสิ่งนั้น ๆ สิ่งที่เด็กเรียนรู้นี้จะฝังรากเป็นคุณลักษณะนิสัยในวัยผู้ใหญ่ กิจกรรมที่พ่อแม่ลูกทำร่วมกันจึงควรเป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็ก
เด็กวัย 3-5 ปี เป็นวัยที่เริ่มต้นทำอะไรด้วยตนเองได้เพราะพัฒนาการทางร่างกายมีความพร้อมมากขึ้น เดินและวิ่งได้ถึงแม้อวัยวะต่าง ๆ ยังทำงานไม่ประสานกันดีนัก จึงเริ่มเป็นตัวของตัวเอง อยากทดลองทำอะไรเอง อยากรู้อยากเห็น สนใจใคร่รู้ ช่างซักช่างถาม ชอบเลียนแบบผู้ใหญ่ เด็กยังยึดตนเองเป็นศูนย์กลางและไม่รู้จักแบ่งปัน วัยนี้เด็กจะเริ่มมีสังคมกับคนนอกครอบครัว จึงเป็นเวลาแห่งการเรียนรู้ที่จะเห็นใจ เข้าใจผู้อื่นและเรียนรู้การแบ่งปัน เพื่อให้เป็นที่รักของผู้อื่น เรียนรู้ได้ว่าการทำสิ่งที่ถูกต้องคือการกระทำที่ผู้ใหญ่พอใจ ผู้ใหญ่ให้คำชม และการกระทำที่ไม่ถูกต้องคือการกระทำที่ผู้ใหญ่ไม่ชอบหรือลงโทษเมื่อเด็กทำสิ่งนั้น
การจัดกิจกรรมสำหรับเด็กวัย 3-5 ปี จึงควรต้องสนองตอบต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ตามวัย ดังนี้
1. พัฒนาการด้านร่างกาย (กล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็ก) ในวัย 3-5 ปีควรเตรียมความพร้อมส่งเสริมให้เด็กเกิดความคล่องแคล่วในการเคลื่อนไหว การทรงตัว ฝึกการใช้มือกับตาให้ทำงานประสานกัน
2. พัฒนาการด้านภาษา คือการเข้าใจภาษาและการใช้ภาษา เด็กควรรู้และสามารถอธิบายความหมายของคำและเรื่องราว สามารถเล่าเรื่องและจับใจความสำคัญได้ ทักษะเหล่านี้จะช่วยเด็กในการสื่อสารและพูดรู้เรื่อง เด็กจะพัฒนาทักษะนี้ได้ พ่อแม่/ผู้ดูแลจำเป็นต้องพูดคุยกับเด็กตั้งแต่แรกเกิด ให้เด็กได้ค่อยๆ เรียนรู้และฝึกใช้คำที่ถูกต้อง
3. พัฒนาการด้านสติปัญญา ต้องเน้นการรับรู้ เรียนรู้ การรู้จักแยกแยะสิ่งต่างๆ ที่จะเป็นพื้นฐานนำไปสู่การแก้ปัญหามีความคิดสร้างสรรค์และสนใจใฝ่รู้
4. พัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม ทำให้เด็กมีความรู้สึกที่ดีต่อตัวเอง รู้จักแบ่งปัน รู้จักการรับและให้ความช่วยเหลือ รู้จักขอบคุณและขอโทษ เรียนรู้กฎระเบียบซึ่งเป็นทักษะทางสังคมพื้นฐานที่จะช่วยให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ในสังคมต่อไป
แนวทางในการเสริมสร้างพัฒนาการเด็กสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ ผ่านกระบวนการเล่านิทาน และการเล่นซึ่งเป็นธรรมชาติของเด็กและเป็นช่องทางการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของเด็ก ทั้งยังเป็นโอกาสให้เด็กได้มีประสบการณ์เรียนรู้ว่าตนเองชอบอะไร ถนัดอะไร รวมถึงข้อเด่นและข้อด้อยของตนเอง
การเล่านิทาน ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เหมาะสำหรับเด็กวัย 3-5 ปี โดยสิ่งที่เด็กได้จากการฟังนิทาน มีดังนี้
1. การเรียนรู้คำศัพท์ ภาษา
2. จินตนาการ
3. สุนทรียภาพ หรือการรับรู้ทางความรู้สึก
4. ต้นแบบการดำเนินชีวิต ความคิด การกระทำ
5. ความรัก ความเอาใจใส่ของผู้ดูแล
6. ความรู้รอบตัว มีนิสัยรักการอ่าน แสวงหาความรู้
ทั้งนี้ การเลือกหนังสือสำหรับเด็กเล็กจึงต้องมีภาพประกอบมาก ขนาดใหญ่ สีสดใส ภาษาที่สละสลวย ยิ่งเป็นคำคล้องจองจะยิ่งดีมากเหมือนคำกลอน บทเพลงที่ง่ายต่อการเข้าใจและจดจำ