แม้ฝนตกจะทำให้อาการสดชื่นเย็นสบาย และขณะเดียวกันก็ทำให้เสี่ยงเจ็บป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กวัยซนที่ภูมิต้านทางค่อนข้างต่ำ เนื่องจากสภาพอากาศมีความเย็นชื้น เอื้อให้เชื้อโรคต่าง ๆ แพร่กระจายได้ง่าย อีกทั้งช่วงนี้ยังเป็นช่วงเปิดภาคเรียนแบบ onsite ซึ่งเด็กที่รวมตัวจำนวนมากยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่อต่าง ๆ
ในช่วงฤดูฝนของทุกปี โรคติดต่อที่พบบ่อยในเด็ก ได้แก่
1. โรคมือเท้าปาก เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ส่วนใหญ่ได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรง โดยเชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากแผล หรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือเกิดจากการไอจามรดกัน ติดต่อกันได้ง่าย ถึงแม้อาการจะทุเลาลงแล้ว แต่ก็อาจแพร่เชื้อได้ เนื่องจากเชื้อจะถูกขับออกมากับอุจจาระได้นาน 6-8 สัปดาห์
2. โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะในเด็กเล็ก เชื้อไวรัสนี้จะส่งผลให้เด็กมีอาการหอบ เหนื่อย และหายใจลำบากได้อย่างรวดเร็ว ที่น่ากลัวคืออาจก่อให้เกิดอาการรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบได้ เชื้อนี้ติดต่อกันได้โดยการสัมผัสใกล้ชิดกับสิ่งคัดหลั่งต่าง ๆ ของผู้ป่วย เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ
3. โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) ติดต่อจากการสัมผัสละอองฝอยจากการไอและการจาม เชื้อไวรัสจะอยู่ในเสมหะ น้ำมูก และน้ำลาย ผู้ป่วยจะมีอาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 1-4 วัน เด็กเล็กจะมีไข้สูง ร่วมกับอาการทางระบบอื่น เช่น ถ่ายเหลว คลื่นไส้อาเจียน และชักจากไข้สูง
4. โรคอุจจาระร่วง เป็นปัญหาที่พบบ่อยในเด็ก อาการ คือ ถ่ายอุจจาระเหลว จำนวน 3 ครั้ง หรือมากกว่า หรือถ่ายอุจจาระเป็นน้ำจำนวนมากกว่า 1 ครั้งใน 1 วัน โรคอุจจาระร่วงเกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเข้าไป ดังนั้น การรักษาความสะอาดเพื่อกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าปากรวมถึงรับประทานอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ ๆ จะช่วยป้องกันโรคนี้ได้
5. โรคไข้เลือดออก ไข้เลือดออกเป็นโรคที่เกิดจากไวรัสเดงกี่ (Dengue Virus) ซึ่งมี 4 สายพันธุ์ และติดต่อมาสู่คนโดยยุงลายที่มีเชื้อเหล่านี้เป็นพาหะนำโรค ช่วงที่มีการระบาดมากคือฤดูฝน ซึ่งยุงลายสามารถขยายพันธุ์ได้ดี ดังนั้น นอกจากระวังไม่ให้เจ้าตัวซนถูกยุงกัดแล้ว สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรทำ คือ กำจัดลูกน้ำและลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
ทั้ง 5 โรคข้างต้นนี้สามารถแพร่เชื้อโรคติดต่อกันได้ง่ายเมื่อเด็กอยู่รวมกันจำนวนมากโดยเฉพาะในโรงเรียนหรือสถานเลี้ยงเด็ก ดังนั้น พ่อแม่ควรส่งเสริมสุขอนามัยที่ดีส่วนบุคคลแก่บุตรหลาน โดยเฉพาะการล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนการเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหารและหลังขับถ่าย การใช้และทิ้งหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี จัดเตรียมของใช้ส่วนตัวของเด็กไม่ให้ปะปนกับเด็กคนอื่น (กรณีไปโรงเรียน) นอกจากนี้ ควรดูแลรักษาความสะอาดบ้านและข้าวข้องเครื่องใช้ในบ้าน โดยเฉพาะของเล่นเด็กให้สะอาดอยู่เสมอ ควรให้เด็กอยู่ในที่ที่มีการระบายอากาศที่ดี ไม่พาเด็กไปในที่แออัด
ที่สำคัญ พ่อแม่ผู้ปกครองควรเฝ้าระวังอาการผิดปกติของบุตรหลาน หากมีอาการป่วยควรให้เด็กน้อยหยุดเรียนและพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาก่อนอาการจะลุกลามและรุนแรง