คุณแม่คงเคยเจอกับสถานการณ์ที่เจ้าตัวเล็กของคุณแม่ เกิดอาการอาละวาดบ้านแทบแตก เวลาที่เขาไม่พอใจหรือไม่ได้ในสิ่งที่เขาต้องการ การอาละวาดออกมาของลูกแสดงถึงพฤติกรรมที่ซ่อนอยู่ในตัวของลูก และหากพฤติกรรมนี้ไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนหรือรับมือไปในทางที่ถูกต้อง ลูกก็อาจมีพฤติกรรมแบบนี้ติดเป็นนิสัยไปจนโตได้ค่ะ
จัดการอย่างไรเมื่องลูกวีน?
- ทำตัวให้สนุกสนาน
คุณแม่ควรมีความสุขและสนุกสนานเวลาอยู่กับลูก เพราะการที่คุณโมโหอยู่ตลอดเวลา เมื่ออยู่กับลูกแล้วลูกไม่ได้ดั่งใจจะไม่ส่งผลดีทั้งต่อคุณและลูกค่ะ ลองหาโอกาสพากันไปเดินเล่นในสวนสาธารณะ หรือปลูกต้นไม้ร่วมกัน ก็จะช่วยให้ทั้งอารมณ์ของลูกเย็นลง และคุณแม่ก็จะสบายใจขึ้นด้วย
- กำจัด “หยุด” “ห้าม” “อย่า”
คุณแม่ลองทบทวนดูว่า คุณห้ามลูกด้วยคำว่า “อย่า” บ่อยเพียงใด พยายามลดคำว่า “อย่า” กับลูกลง เช่น แทนที่จะบอกว่า “ไม่เล่นแล้วลูก แม่บอกให้หยุดไง” เลี่ยงไปใช้คำพูดว่า “ไว้เราค่อยมาเล่นกันทีหลัง” หรือ “ไว้ครั้งหน้าเราค่อยมากันใหม่นะ”
- หาสาเหตุก่อนจะดุ
คุณลองหาสาเหตุดูว่าลูกกำลังเผชิญกับความเครียดอะไรอยู่หรือไม่ เช่น การเปลี่ยนโรงเรียน หรือได้ยินพ่อแม่ทะเลาะกัน หรือคุณกำลังมีลูกคนเล็กอีกคน ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดอาการอาละวาดขึ้นได้ ดังนั้นคุณควรที่จะให้ความสำคัญกับต้นเหตุของปัญหาและหาทางแก้ พูดให้ลูกเข้าใจและสบายใจขึ้น มากกว่าสนใจกับการอาละวาดของลูกอย่างเดียว โดยที่ไม่ดูเรื่องราวรอบข้างตัวลูก
- เก็บข้อมูล ประเมินผล
คุณแม่ต้องรู้จักสังเกตและจดบันทึกว่าลูกอาละวาดตอนไหนบ้าง เพื่อดูการอาละวาด ช่วงเวลาและเหตุผลที่ทำให้ลูกอาละวาดมากขึ้น เช่น ลูกงอแงตอนง่วงนอน หรือตอนที่หิวจนหงุดหงิด เป็นต้น
- ไม่ลงโทษ
สุดท้าย คุณแม่ต้องจำไว้เสมอว่า ห้ามลงโทษลูกที่กำลังอาละวาดเด็ดขาด เพราะจะยิ่งทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่และเลวร้ายลงไปได้ค่ะ
หากคุณแม่เข้าใจและรับมือกับอารมณ์ของลูกได้อย่างถูกวิธีแล้ว นอกจากลูกจะหยุดพฤติกรรมกวนโมโหคุณแม่ได้แล้ว ยังช่วยวางพื้นฐานนอสัยและอารมณ์ของลูกให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพอีกด้วยค่ะ