“ภาวะซึมเศร้า”
เป็นสภาพทางจิตที่มีระดับความรู้สึกเศร้ารุนแรงหรือเรื้อรัง รู้สึกหมดหนทาง และมีอารมณ์หรือมีพฤติกรรมอื่นๆ ร่วมด้วย ถือเป็นเป็นโรคทางจิตเวชที่มีผู้เป็นจำนวนไม่น้อย แต่ยังมีผู้รู้จักโรคนี้ไม่มากนัก รวมถึงหลายคนไม่คาดคิดด้วยว่าจะมีโรคนี้เกิดขึ้นในวัยเด็ก หรือที่เรียกว่า…
“ภาวะซึมเศร้าในเด็ก”
อาการ “ภาวะซึมเศร้าในเด็กและวัยรุ่น”
จะมีอาการค่อนข้างแตกต่างจากผู้ใหญ่ ซึ่งในเด็กบางรายซึมเศร้าจะไม่ซึม แต่จะมีอาการหงุดหงิด ฉุนเฉียว เจ็บป่วยทางร่างกายบ่อยๆ ไม่มีสมาธิในการเรียน เก็บตัวไม่เล่นกับเพื่อนๆ เนื่องจากเด็กมีการเรียนรู้ที่เร็ว และมีอารมณ์ที่แปรปรวนง่ายเปลี่ยนตามสภาพแวดล้อมที่ได้ยิน หรือได้เห็น
ข้อมูลจาก ผศ.ดร.ก.บ. ศุภลักษณ์ เข็มทอง คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าสาเหตุการเกิดภาวะซึมเศร้าในเด็กเกิดจาก 2 ปัจจัย
- ปัจจัยทางกาย เกิดจากสารเคมีที่เป็นสารสื่อประสาทบางอย่างไม่สมดุล โดยพบมีสารที่สื่อประสาทที่สำคัญ เช่น ซีโรโทนิ และนอร์เอพิเนฟริน ลดต่ำลง หรือสาเหตุด้านกรรมพันธุ์ มีคนในครอบครัวมีภาวะนี้
- ปัจจัยทางจิตใจ เช่น ความเครียดจากการเรียนจนเด็กขาดความมั่นใจในตัวเอง หมดกำลังใจ รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง หรือถูกเพื่อนแกล้ง ถูกปฏิเสธจากกลุ่มเพื่อน ถูกครูตำหนิกดดัน และการเลี้ยงดูที่เข้มงวดเกินไปเด็กไม่สามารถแสดงออกในสิ่งที่ต้องการได้ มีการตั้งระเบียบกฎเกณฑ์มากเกินไปโดยไม่ฟังความเห็นลูก
ซึ่งสาเหตุเหล่านี้เด็กจะแสดงพฤติกรรมออกมา โดยในเด็กวัยเรียนจะเริ่มจากการที่เด็กไม่อยากทำอะไร ขี้เกียจเรียน ขี้เกียจเล่น ไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น นอนเยอะมาก ไม่ว่าใครจะชมอะไรเด็กก็ไม่ยินดียินร้าย รู้สึกไม่มีพลังอยากทำอะไรเลย หรืออาจเขียนภาพแปลกๆ แต่ถ้าเป็นโรคซึมเศร้าที่รุนแรง อาการที่เกิดขึ้น ได้แก่ มีน้ำหนักลด สัมผัสถึงความเศร้าและไมมีความสุขของเด็กได้ชัดเจนจากสีหน้าและท่าทาง จะดูซึมและเศร้าจริงๆ โดยเด็กจะไม่เรียกร้องอะไรเพราะไม่อยากพูดกับใคร
เมื่อตรวจพบว่าเด็กกำลังป่วยเป็นโรคซึมเศร้า แพทย์จะรักษาโดยการให้กินยาต้านอารมณ์เศร้าติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน หรือ 1 ปี ร่วมกับการทำจิตบำบัดให้เด็กปรับความคิดจากด้านลบกลับสู่ด้านบวก รวมถึงการปรับทัศนคติของคนรอบข้างเด็ก โดยการฟื้นฟูจิตใจของสำหรับเด็ก 3-5ขวบ นั้น เด็กจะต้องได้รับแรงบวกมากๆ เช่น ให้กำลังใจด้วยการกอดลูก ชมลูกอย่างจริงใจ ให้ลูกเรียนรู้กับเพื่อนของเขา
ดังนั้น หากสงสัยว่าลูกมีภาวะซึมเศร้าควรรีบพาไปพบแพทย์ นอกจากนี้พ่อแม่ควรใส่ใจมอบความรักความอบอุ่นให้แก่ลูก จะช่วยให้สภาพจิตใจเด็กดีขึ้น นอกเหนือไปจากการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ค่ะ