ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ รวมถึงความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ ทำให้ปัจจุบันในหลายๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย พบปัญหาการขาดสารอาหารของเด็กลดลง ขณะที่ “โรคอ้วน” กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลายครอบครัวปล่อยให้ลูกจ้ำม่ำตั้งแต่วัยเด็ก รู้ตัวอีกทีก็ส่งผลร้ายต่อสุขภาพเด็กไปเสียแล้ว!!
สำหรับสถานการณ์โรคอ้วนในเด็กนั้น ศ.พญ.ชุติมา ศิริกุลชยานนท์ อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า…
ในประเทศไทยผู้ใหญ่ 1 ใน 3 มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน โดยเด็กอายุ 6 – 14 ปี ในปี 2558 พบว่า มีภาวะอ้วน 12.6% เฉพาะเขต กทม. จากการสำรวจใน 5 โรงเรียนเครือข่ายเด็กไทยดูดี เมื่อปี 2559 พบว่า มีภาวะอ้วน 16.6% ขณะที่ ร.ร.เอกชน พบเด็กมีภาวะอ้วนเพิ่มขึ้น 2 เท่า จาก 18.9% ในปี 2557 เป็น 34% ในปี 2559
ผลเสียของการเป็นเด็กอ้วน
โดย ผศ.พญ.หทัยกาญจน์ นิมิตรพงษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบต่อมไร้ท่อ รพ.รามาธิบดี
- ระบบกระดูกและข้อ เช่น ปวดหลัง ขาโก่ง เดินไม่สวย ปวดข้ออักเสบ ซึ่งยิ่งอ้วนยิ่งรุนแรงมาก
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด คือ โรคหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ ซึ่งปัจจุบันพบคนเป็นโรคนี้ในคนที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ จากเดิม 50 – 70 ปี เหลือเพียง 30 กว่าปีเท่านั้น
- ระบบทางเดินหายใจ คือ ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
- ระบบทางเดินอาหารและโรคตับ เช่น ไขมันพอกตับ ซึ่งไม่มีอาการบ่งบอก ทำให้เสี่ยงตับแข็ง และมะเร็งตับได้เหมือนไวรัสตับอักเสบบีและซี หรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ระบบต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม เช่น การเกิดโรคเบาหวานชนิดที่สอง เกิดไขมันเลวมาก ไขมันดีต่ำลง
- กลุ่มอาการเมตาบอลิก เช่น ภาวะอ้วนลงพุง โรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานชนิดที่สอง โรคความจำเสื่อม โรคมะเร็ง โรคถุงน้ำในรังไข่ เป็นต้น
- ความผิดปกติทางผิวหนัง เช่น บริเวณรักแร้ ขาหนีบ เกิดผื่นคันใต้ร่มผ้า เชื้อราได้ง่าย
- ด้านจิตใจและสังคม เช่น โรคซึมเศร้า เครียด ไม่กล้าแสดงออก
- ความเสี่ยงต่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่โรคอ้วน
- มะเร็ง เช่น มะเร็งตับ ไต มะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก มะเร็งตับอ่อน เป็นต้น
ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญของโรคอ้วนในเด็ก คือ พฤติกรรมการบริโภค โดยเฉพาะอาหารที่ให้ไขมันพลังงานสูง ขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย ไม่อยากเสี่ยงก็ต้องให้ลูกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้นะคะ