ใกล้ปิดเทอมการ์ดอย่าตก! ยังต้องระวัง 5 โรคติดเชื้อระบาด

0

เหลือเวลาประมาณ 1 อาทิตย์ ก็จะถึงช่วงเวลาที่เหล่าเด็กน้อยวัยซนรอคอย นั่นคือการปิดเทอมนั่นเอง งานนี้พ่อแม่ผู้ปกครองห้ามประมาทละเลยสุขภาพของลูกรักโดยเด็ดขาด เพราะช่วงวันไปโรงเรียนที่เหลืออยู่นี้ เจ้าตัวซนยังมีความเสี่ยงต่อโรคที่มักระบาดในช่วงเปิดเทอมเหล่านี้!

 

พ

 

ในช่วงเวลาเปิดเทอม เป็นช่วงเวลาที่เด็กได้เรียนและรวมตัวทำกิจกรรม ในโรงเรียน ทำให้เกิดการสัมผัสซึ่งกันและกัน อีกทั้งมีความแออัดจากการร่วมกิจกรรม หรือใช้สิ่งของร่วมกันกับเพื่อนในห้อง ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุ 2-5 ปี โดยโรคติดเชื้อที่ว่า ได้แก่ โรคตาแดง โรคมือ เท้า ปาก โรคอุจจาระร่วง โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้เลือดออก

 

  1. โรคตาแดง

สาเหตุ : ติดเชื้อแบคทีเรีย/ ไวรัสที่เยื่อบุตา ติดต่อได้โดยการสัมผัสน้ำตาและขี้ตาของผู้ป่วย รวมถึงเชื้อโรค/ สิ่งที่ไม่สะอาด

อาการ :  ตาแดง คันตา ปวดตา มีขี้ตามากผิดปกติ

  1. โรคมือ เท้า ปาก

สาเหตุ : ติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรงกับน้ำลาย น้ำมูก ตุ่มพอง ของผู้ป่วย โรคนี้มักพบในเด็กเล็กมากกว่าเด็กโต

อาการ : มีไข้ มีตุ่มอักเสบที่ ปาก ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม เป็นตุ่มแดง ตุ่มน้ำใส หรือ ผื่นนูน

  1. โรคอุจจาระร่วง

สาเหตุ : เกิดจากการกินอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน รวมถึงการจับของเล่นสกปรกเข้าปากของลูกน้อย

อาการ : คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง ถ้าอาการรุนแรงควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

  1. โรคไข้หวัดใหญ่

สาเหตุ : มักติดต่อกันได้ง่าย ผ่านลมหายใจ ไอ จาม และละอองน้ำมูก หรือติดต่อจากการใช้สิ่งของที่มีเชื้อของผู้ป่วย โดยเฉพาะในสถานที่ ที่มีคนแออัดมาก

อาการ : ไข้สูง หนาวสั่น ไอ จาม อ่อนเพลีย และปวดกล้ามเนื้อ

  1. โรคไข้เลือดออก

สาเหตุ : มียุงลายเป็นพาหะนำโรค (สำหรับช่วงฤดูร้อน อุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงขึ้นมีผลให้ลูกน้ำยุงลายฟักตัวเร็วขึ้น)

อาการ : มีไข้สูง พบผื่น จุดแดง ซึม อ่อนเพลีย ปวดท้องที่ชายโครง รวมถึงคลื่นไส้และอาเจียน หากมีไข้สูง ไม่ทราบสาเหตุควรรีบพาพบแพทย์ เพื่อทำการรักษาและมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

 

ทั้งนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองควรสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับลูก เช่น การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด การสัมผัสและคลุกคลีกับผู้ป่วย มีการออกกำลังกายเป็นประจำ และพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงมีการล้างมืออย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยให้ลูกน้อยมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูแลและเฝ้าระวังแล้ว แต่พบลูกน้อยมีอาการผิดปกติ แนะนำให้พามาพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *