ขณะนี้เข้าสู่ช่วงเปิดเทอมของโรงเรียนทั่วประเทศ ประกอบกับประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ดังนั้น โรคที่ควรเฝ้าระวังในช่วงนี้ คือ โรคมือ เท้า ปาก ซึ่งมักมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในภาวะอากาศเย็นและชื้น และมักเกิดในสถานที่ที่มีเด็กจำนวนมากมาอยู่รวมกัน เรียกว่าเป็นโรคสุมเสี่ยงอันดับต้น ๆ ของเด็กน้อยก็ว่าได้ค่ะ
โรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot and Mouth Disease)
จะเกิดบ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เนื่องจากเด็กมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ โดยมักมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กโต การติดต่อของโรคจะติดต่อจากการได้รับเชื้อทางปากโดยตรง ซึ่งเชื้อไวรัสจะติดมากับมือ หรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จาม รดกัน โดยหลังจากได้รับเชื้อ 3 – 6 วัน ผู้ติดเชื้อจะเริ่มแสดงอาการป่วย
อาการที่พบบ่อยได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดเมื่อย เป็นต้น หรือมีอาการไข้ร่วมกับตุ่มพองเล็ก ๆ เกิดขึ้นที่ผิวหนังบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และในปาก โดยตุ่มแผลในปากนั้น บริเวณรอบ ๆ จะอักเสบและแดงต่อมาตุ่มจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้น ๆ เป็นสาเหตุให้เด็กไม่ดูดนม ไม่กินอาหารเพราะเจ็บปาก กินอะไรไม่ค่อยได้ น้ำลายไหล เพราะมีแผลในปากเหมือนแผลร้อนใน
โดยทั่วไปอาการจะดีขึ้นและสามารถหายเป็นปกติได้ภายใน 7 – 10 วัน แต่หากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ บางรายมีอาการมากจนกินอาหารและน้ำไม่ได้ ต้องรีบพาเด็กไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที
วิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ห่างไกลโรคมือ เท้า ปาก คือ รักษาสุขอนามัยให้สะอาดอยู่เสมอ ให้เด็กล้างมือบ่อย ๆ หรือทุกครั้งที่สัมผัสสิ่งสกปรกปนเปื้อนเชื้อโรค หมั่นทำความสะอาดของเล่นและข้าวของเครื่องใช้ของลูกให้สะอาดเสมอ
หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน และ ใช้ช้อนกลางเมื่อกินอาหารร่วมกับผู้อื่น ควรหลีกเลี่ยงการไปสถานที่สาธารณะ สำหรับพ่อแม่ที่มีลูกป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก ควรดูแลลูกน้อยตามคำแนะนำของแพทย์ จัดอาหารอ่อน ๆ ไม่ร้อนจัด ดื่มน้ำ นม และน้ำผลไม้แช่เย็น เพื่อช่วยลดอาการเจ็บแผลในปาก
โรคมือ เท้า ปาก ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ คุณพ่อคุณแม่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ควรให้ลูกนอนพักผ่อนให้มากๆ และเช็ดตัวให้เด็กเพื่อลดไข้เป็นระยะ