คงจะเป็นเรื่องยากที่จะแยกลูกออกจากสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ในปัจจุบัน แม้เป็นที่รู้กันดีว่าปัญหาเกี่ยวกับการเสพสื่อต่างๆ ที่มีมากมายจนบางทีคุณพ่อคุณแม่ก็ตามไม่ทันนั้นอาจจะสร้างผลเสียให้กับลูกได้
แต่ในเมื่อกิจกรรมเหล่านี้อาจเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของทั่วๆไป อย่างเราๆซะแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ควรรู้จักวิธีดูแลลูกให้เสพสื่อต่างๆ อย่างปลอดภัย ด้วยคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่สามารถนำไปใช้ได้จริง ดังต่อไปนี้ค่ะ
· ทำความรู้จักโซเชียลมีเดีย
คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องเรียนรู้สิ่งที่เรียกว่าโซเชียลเน็ตเวิร์กบ้าง ซึ่งไม่ใช่รู้เฉพาะชื่อ แต่ต้องรู้ว่าโซเชียลมีเดียแต่ละแบบมันมีลักษณะอย่างไร และลูกๆ ของคุณใช้มันทำอะไรได้บ้าง เพราะโซเชียลมีเดียในแต่ละแพลทฟอร์มนำมาซึ่งความเสี่ยงที่แตกต่างกัน
โดยทั่วไปแล้ว โซเชียลมีเดียที่นิยมใช้ก็มีอยู่ไม่กี่อย่าง ถ้าเป็นในประเทศไทยก็จะมี Facebook, Twitter, Youtube, Instagram’Line ไปด้วยอีกอัน ถึงไม่ใช่โซเชียลมีเดีย แต่ก็เป็นแพลทฟอร์ม Instant messaging ที่ได้รับความนิยมสูง และมีความเสี่ยงในการใช้งานเช่นกัน
· พิจารณาอายุที่เหมาะสม
คุณพ่อคุณแม่ต้องตัดสินใจว่าจะให้ลูกๆ เริ่มใช้โซเชียลมีเดียได้เมื่อไร โดยทั่วไปแล้วโซเชียลเน็ตเวิร์กส่วนมากจะกำหนดอายุผู้ใช้งานไว้ที่ 13 ปี หรือมากกว่านั้นตามพรบ.คุ้มครองเด็ก COPPA ที่ห้ามไม่ให้บริษัทเหล่านี้เก็บข้อมูลส่วนตัวของเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง
· อย่าปล่อยลูกใช้คอมพิวเตอร์เพียงลำพัง
แทนที่จะวางคอมพิวเตอร์ไว้ในห้องนอนของลูกๆ คุณควรจะเอามันมาวางไว้ในพื้นที่ส่วนกลางของบ้าน เพื่อที่คุณจะได้รู้ว่าลูกของคุณใช้โซเชียลมีเดียอย่างไรบ้าง
· ตั้งกฎการใช้โซเชียลมีเดีย
คุณควรจะตั้งกฏหรือไกด์ไลน์ขึ้นมาเพื่อให้เด็กๆ ใช้โซเชียลมีเดียอย่างถูกวิธี เช่น กำหนดจำนวนชั่วโมงในการเล่นอินเทอร์เน็ตต่อวัน หรือคุณอาจจะกำหนดเวลาเพื่อให้คุณและลูกออนไลน์พร้อมๆ กันเพื่อสอนวิธีการใช้โซเชียลมีเดียอย่างปลอดภัย
· ห้ามลูกตั้งค่าความเป็นส่วนตัว
คุณต้องคอยตรวจสอบ Privacy setting ในโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ ของลูกอยู่เป็นประจำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก่อนอนุญาตให้เล่นก็ควรสร้างกติกาข้อนี้กันไว้ก่อนเลยค่ะ
· บอกให้ลูกรู้ถึงอันตรายและผลกระทบจากการใช้โซเชียลมีเดีย
เด็กส่วนมากจะไม่ตระหนักถึงผลกระทบที่ตามมาจากการใช้โซเชียลมีเดีย และมักจะใช้ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และไม่ทันยั้งคิดว่าอาจมีมิจฉาชีพที่คอยจับตาดูพวกเขาอยู่ ดังนั้นคุณควรย้ำกับลูกว่ารูปภาพ คอมเมนต์ และการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในโซเชียลมีเดียจะสร้างผลกระทบต่ออนาคตของเด็กๆ ได้อย่างไรบ้าง
อย่างไรก็แล้วแต่เมื่อคุณเปิดโอกาสให้ลูกได้ลองเรียนรู้ด้วยตัวเองแล้ว ก็ต้องวางใจอย่าสร้างเงื่อนไขจนลูกอึดอัด แต่ก็อย่าปล่อยปละละเลยเป็นอันขาดนะคะ