การใช้ชีวิตในโรงเรียนสำหรับเด็กๆ นั้น นอกเหนือจากจุดประสงค์เพื่อการศึกษาหาความรู้แล้ว อีกทางหนึ่งก็ยังเป็นการเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิต ปรับตัวกับสิ่งแวดล้อม และรู้จักเอาตัวรอดในสังคม
ดังนั้นโรงเรียนจึงเปรียบเสมือนเป็นเมืองจำลองสังคมจริงในชีวิตที่ด็กจะต้องเติบโตและพบเจอเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า แน่นอนว่าในสังคมหนึ่งยิ่มประกอบด้วยทั้งคนดีและคนไม่ดี คุณพ่อคุณแม่คงต้องทำใจยอมรับในข้อนี้ และตระหนักว่าเราไม่สามารถปกป้องลูกไปได้ตลอด การโวยวายหาเด็กหรือผู้ปกครองที่ทำไม่ถูกใจ หรือการต่อว่าโรงเรียนไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา หรือสอนให้ลูกรู้จักแก้ปัญหาใดๆ เลย ดังนั้นเมื่อลูกต้องไปโรงเรียน คุณควรคอยสังเกตและช่วยเหลือลูกอยู่ห่างๆ ค่ะ
รู้ได้อย่างไรเมื่อลูกถูกรังแก
- สังเกตเห็นพฤติกรรรมบางอย่างของลูกที่เปลี่ยนไป เช่น ลูกบ่นไม่อยากไปโรงเรียน เงียบผิดปกติ
- บางรายอาจสร้างเรื่องร้ายแรงที่โรงเรียนเพื่อขู่พ่อแม่ เช่น ครูจับมัดมือมัดเท้า ไม่ให้กินข้าว เพื่อจูงใจให้พ่อแม่เห็นว่าโรงเรียนอันตราย
- สังเกตเห็นรอยเขียวช้ำตามตัวของลูก อาการบาดเจ็บทางร่างกายแสดงให้เห็นได้ชัดเจนแต่ความเครียดและความบอบช้ำทางจิตใจคุณไม่มีทางจะรู้ได้เลย
- หากคุณรู้สึกว่าลูกอาจเจอบางอย่างที่ว่านั้นภายในโรงเรียน ให้ลองหาทางคุยกับลูกด้วยวิธีที่กลมกลืนและไม่ทำให้ลูกรู้สึกแย่ รวมทั้งคุยกับครูและสังเกตพฤติกรรมของลูกให้ดี ที่สำคัญเมื่อคุณรู้แล้วว่าลูกโดนรังแกจากเพื่อนที่โรงเรียน อย่าแสดงความรู้สึกในด้านลบให้ลูกเห็นเพราะเด็กๆ จะกลัวและอายเมื่อรู้ว่าเขาทำให้พ่อแม่ผิดหวัง
ทำอย่างไรเมื่อลูกถูกรังแก?
เมื่อคุณรู้แน่ชัดแล้วว่าลูกโดนกลุ่มเพื่อนที่โรงเรียนรังแก
- อันดับแรกที่คุณต้องทำคือคุยกับลูกก่อน ให้กำลังใจ และสร้างความมั่นใจให้กับลูกอีกครั้ง
- ถ้าได้เล็งเห็นแล้วว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น คุณครูควรจะต้องรับรู้และมีส่วนรับผิดชอบ คุณควรเข้าไปคุยกับคุณครูให้ช่วยดูแล หรือช่วยให้การรังแกนั้นเกิดขึ้นน้อยลง
ที่สำคัญคือ คุณต้องสอนลูกให้รู้จักระวังตัว ดังนี้…
- หาเพื่อนสนิทอย่างน้อยหนึ่งคน
การมีเพื่อนแม้จะไม่ใช่กลุ่มใหญ่แต่อย่างน้อยๆ เวลาที่เกิดอะไรขึ้นกับลูกนั้น เพื่อนอีกคนสามารถที่จะวิ่งไปบอกคุณครูได้ พยายามให้ลูกหลีกเลี่ยงอยู่คนเดียวในที่ที่อันตรายจะเสี่ยงต่อการโดนรังแก เช่น ในห้องน้ำ
- อย่าแสดงความโกรธหรือโต้อตอบ
ความสนุกของเด็กที่ชอบรังแกคนอื่นอยู่ที่การที่ได้เห็นว่าฝ่ายตรงข้ามนั้นโกรธหรืออาย เพราะฉะนั้นเมื่อใดก็ตามที่ลูกคุณแสดงอารมณ์ในด้านลบต่อการกระทำของอีกฝ่ายออกมา เท่ากับว่าเป็นการกระตุ้นให้เขาได้ใจและทำซ้ำแล้วซ้ำอีก สอนลูกให้นิ่งและควบคุมอารมณ์ไว้ สิ่งสำคัญคือ ความกล้าหาญ แล้วเดินจากไป และทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
- บอกให้คนอื่นได้รู้
เมื่อสถานการณ์เข้าขั้นย่ำแย่เกินกว่าที่จะรับมือไหว สิ่งสำคัญที่ควรจะทำคือการบอกให้ผู้ใหญ่ได้รับรู้ เช่น ครู ผู้ใหญ่ในโรงเรียน หรือเพื่อนสนิท แม้อาจจะไม่ได้รับการช่วยเหลือทั้งหมด แต่อย่างน้อยๆ ถ้าลูกทำอย่างนั้นก็น่าจะช่วยให้สบายใจขึ้น
เหนือสิ่งอื่นใด เมื่อลูกต้องประสบกับสิ่งเหล่านี้ สิ่งที่ดีที่สุด คือ คุณต้องพูดคุยกับลูกในเชิงบวก ทั้งเกี่ยวกับเพื่อน คุณครู และโรงเรียน เพื่อให้ลูกไม่หวาดกลัว แล้วหมดศรัทธากับการไปโรงเรียน คุณมีหน้าที่สร้างขวัญกำลังใจให้ลูกพร้อมเผชิญกับโลกกข้างนอกบ้านค่ะ