เด็กดื้อโดยทั่วไปน่าจะหมายถึงเด็กที่ต่อต้านไม่เชื่อฟังในเด็กเล็ก เด็กอาจอาละวาดเพื่อแสดงความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งอาจถือเป็นพัฒนาการปกติ และจะถือว่าผิดปกติเมื่ออาการเป็นมากและไม่อยู่ในกฎเกณฑ์ทั่วไปของสังคม
คำถามคือ อาการมากน้อยแค่ไหน? ที่บอกว่าเจ้าตัวซนของคุณเป็นเด็ก “ดื้อผิดปกติ”
ข้อมูลจากหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขภาพจิต ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปความได้ว่า
อาการของเด็กดื้อ เด็กมีความดื้อรั้น ฝ่าฝืนคำสั่งและกฎเกณฑ์ เมื่อรุนแรงขึ้นก็อาจแสดงความก้าวร้าว และเมื่อเป็นมากขึ้นในเด็กโตจะแสดงอาการต่อต้านสังคม ซึ่งนำไปสู่การละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่นทั้งทางทรัพย์สินและร่างกาย ซึ่งในที่สุดอาจพัฒนาเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหาบุคลิกภาพ
สมาคมจิตแพทย์อเมริกันกำหนดการวินิจฉัยว่าเด็กมีความผิดปกติแบบดื้อดึงและต่อต้าน เมื่อมีอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 4 อาการติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน
- ควบคุมอารมณ์ไม่ได้บ่อยๆ
- เถียงและทะเลาะกับผู้ใหญ่บ่อยๆ
- ดื้อดึง ท้าทาย และฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ใหญ่และกฎเกณฑ์บ่อยๆ
- ตั้งใจรบกวนคนอื่นบ่อยๆ
- โยนความผิดให้คนอื่นบ่อยๆ
- อารมณ์เสียและโกรธง่ายบ่อยๆ
- โกรธและไม่พอใจบ่อยๆ
- แกล้งและแก้แค้นอาฆาตพยาบาทบ่อยๆ
การแก้ปัญหาเด็กดื้อควรเน้นทั้งที่ตัวเด็กและครอบครัว โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือพฤติกรรมบำบัด เน้นการให้รางวัลกับการทำพฤติกรรมดี ไม่ใช่ทำโทษ
การฝึกพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาและการเข้าสังคม ถ้าสงสัยเป็นโรคสมาธิสั้น หรือปัญหาทางสุขภาพจิตอื่นๆ ควรพาพบจิตแพทย์เพื่อรักษา ในส่วนของครอบครัวนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กควรเข้ารับการปรึกษาจากจิตแพทย์เพื่อหาวิธีดูแลรักษาเด็ก
นอกจากนี้อาจค่อยๆ ปรับพฤติกรรมของเด็ก เช่น ปรับปรุงบรรยากาศและการใช้อารมณ์ในครอบครัว ให้เด็กรู้สึกอยู่แล้วมีความสุข เด็กก็จะไม่ต่อต้านและมีพฤติกรรมดื้อน้อยลงค่ะ