ความกลัวของเด็กพบได้ตามธรรมชาติในช่วงวัย 3-5 ปี ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ ที่ลูกกลายเป็นเด็กขี้กลัว ได้แก่ เป็นโรคประสาทวิตกกังวลอยู่ ถูกข่มขู่ ถูกหลอก ทำให้ตกใจกลัวอยู่บ่อย ๆ หรือมีประสบการณ์ที่ทำให้ตกใจอย่างรุนแรงมาก่อน เช่น ถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว ถูกตี ถูกดุด่า ขาดการฝึกฝนทักษะ ไม่อยากให้พฤติกรรมนี้ติดตัวลูกไปจนโต ต้องรับมืออย่างถูกวิธี
ผลที่ตามมาเมื่อเจ้าตัวซนเป็นเด็กขี้กลัว คือ ทำให้เด็กขาดความมั่นใจ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ไม่ดี อย่างไรก็ตาม ลูกขี้กลัวไม่น่ากลัวอย่างที่คิด หากพ่อแม่มีความเข้าใจสามารถรับมือปรับพฤติกรรมความกลัวของลูกได้ โดยวิธีการแก้ไขเพื่อปรับพฤติกรรมลูก มีดังนี้
- สังเกต เอาใจใส่และพูดคุยกับลูกอยู่เสมอ การคุยกับลูกจะช่วยให้เจ้าตัวซนสบายใจขึ้น เป็นการเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่าความในใจว่า กลัวอะไรบ้าง เพราะอะไรทำไมถึงกลัว
- ลดท่าทีข่มขู่ การหลอกทุกรูปแบบให้เด็กหวาดกลัว เช่น หลอกว่าถ้าไม่หยุดร้องไห้ตุ๊กแกกินตับ หลอกว่าถ้าดื้อจะให้ตำรวจมาจับตัวไป ฯลฯ เพราะจะเป็นการเพิ่มความวิตกกังวลและความกลัวให้แก่เด็กโดยไม่มีความจำเป็น ควรแสดงท่าทีอบอุ่น ปลอบประโลม เข้าใจความรู้สึกของเด็ก บอกความจริงที่เกิดขึ้นให้ลูกเข้าใจ
- หาต้นแบบของความวิตกกังวล หรือคนขี้กลัวภายในบ้าน เพราะพฤติกรรมของเด็กส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการเลียนแบบ การมีพ่อ แม่ หรือคนในบ้านขี้กลัว อาจทำให้ลูกติดนิสัยนี้โดยไม่รู้ตัว กล่าวคือ ตกใจหรือหวาดกลัวตามได้ ดังนั้น การลดต้นแบบของความหวาดกลัว วิตกกังวล และแสดงท่าทีที่เชื่อมั่นในสิ่งต่าง ๆ รอบตัว จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แก่เด็ก
- หาหนังสือนิทานที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเผชิญหน้ากับความกลัวมาอ่านให้ลูกฟัง แล้วอธิบายให้เจ้าตัวซนเข้าใจถึงวิธีการต่อสู้กับความกลัวในใจ
- ฝึกให้เด็กเผชิญกับสิ่งที่น่ากลัวทีละน้อย โดยพ่อแม่คอยอยู่ใกล้ๆ และช่วยเหลือในบางสิ่งบางอย่างเท่านั้น ถ้าลูกยังไม่กล้า ก็ไม่ควรบังคับ ค่อยเป็นค่อยไปและคอยให้กำลังใจเป็นระยะ จนเด็กสามารถเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวได้
- เพิ่มทักษะในการช่วยเหลือตนเองการตัดสินใจและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ จะส่งผลให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเองและสภาพแวดล้อมได้ดีขึ้น
ทั้งนี้ หากลองทำตามวิธีขั้นต้นแล้วยังไม่ได้ผล คุณพ่อคุณแม่อย่าปล่อยผ่านเด็ดขาดนะคะ ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อทำการบำบัดรักษาต่อไป เพราะบางรายอาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการเยียวยาจิตใจนานหลายปีเลยทีเดียว