คุมกำเนิดครอบครัวอย่างได้ผล ด้วยการ “ทำหมันชาย”

0

“การทำหมัน” เป็นวิธีคุมกำเนิดถาวรที่มีประสิทธิภาพสูง สะดวก ปลอดภัย เสียเวลาเพียงครั้งเดียวสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ตลอดวัยเจริญพันธุ์ แบ่งเป็น การทำหมันชาย และการทำหมันหญิง โดยการทำหมันชาย ทำได้ง่าย สะดวก ปลอดภัย มีอาการแทรกซ้อนน้อยมาก เมื่อเทียบกับการทำหมันหญิง

การทำหมันชาย (Vasectomy)

การทำให้ท่ออสุจิทั้งสองข้างเกิดการอุดตันด้วยวิธีการต่างๆ ทำให้ตัวอสุจิไม่สามารถเข้าไปผสมกับไข่ได้ การทำหมันชายมีประสิทธิภาพสูงมากในการป้องกันการตั้งครรภ์ โดยทั่วๆ ไปแล้ว มีอัตราล้มเหลวเกิดการตั้งครรภ์เพียงร้อยละ 0.15 ในปีแรก

vasectomy

สำหรับหลักการและขั้นตอนการทำหมันชาย จาก คู่มือการให้บริการวางแผนครอบครัว สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข กรมอนามัย มีดังนี้

  1. ให้คำปรึกษา ผู้รับบริการต้องได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการคุมกำเนิดชั่วคราวและถาวร วิธีการทำหมันชาย ข้อดี ข้อเสีย อาการข้างเคียง ภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น และทราบว่าภายหลังการผ่าตัดทำหมัน จะยังไม่เป็นหมันทันที จึงต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอื่น ประมาณ 3 เดือน หรือจนกว่าการกรวดน้ำอสุจิ จะไม่พบตัวอสุจิแล้ว
  1. ซักประวัติและตรวจร่างกาย เพื่อดูความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจที่จะทำหมันได้หรือไม่ โดยทั่วๆ ไป ไม่มีข้อห้ามโดยเด็ดขาดสำหรับการทำหมัน ผู้รับบริการที่มีปัญหาสุขภาพ ได้แก่ โรคหัวใจ, ไส้เลื่อน, เส้นโลหิตดำของท่อน้ำอสุจิโป่งพอง ขดหรือขอด, เคยผ่าตัดถุงอัณฑะ, โรคผิวหนังบริเวณถุงอัณฑะ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่กำลังเป็นอยู่ ควรรักษาให้หายก่อน ผู้ป่วยเหล่านี้ หากจำเป็นจะต้องทำหมัน ต้องทำอย่างระมัดระวัง
  1. การเซ็นใบยินยอมผ่าตัดทำหมัน ผู้รับบริการจะต้องเซ็นใบยินยอมผ่าตัด ว่าเป็นการตัดสินใจทำหมันโดยความสมัครใจ

สำหรับอาการที่ผู้ทำหมันชายต้องกลับมาพบแพทย์

  1. มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป (โดยเฉพาะใน 3 วันแรก)
  2. บริเวณแผลผ่าตัดมีเลือดออกมาก อักเสบ ติดเชื้อ หรือเป็นหนอง
  3. ถุงอัณฑะบวมและปวดมาก

การทำหมันเป็นวิธีคุมกำเนิดชนิดถาวร จึงเหมาะสำหรับคู่สมรสที่มีบุตรเพียงพอแล้วเท่านั้น ดังนั้น ถ้ายังไม่แน่ใจ ก็ไม่ควรทำหมัน เพราะการแก้หมันนั้น เสียค่าใช้จ่ายพอสมควรและผลสำเร็จมีไม่มากค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *