ยังคงเป็นปัญหาสุขภาพระดับโลกที่น่าเป็นห่วง สำหรับการระบาดของ COVID-19 งานนี้นอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพกายโดยเฉพาะในผู้ที่ติดเชื้อแล้ว วิกฤติครั้งนี้กำลังก่อให้เกิดความเครียดในหมู่คนทั่วทุกหย่อมหญ้า ไม่อยากสุขภาพจิตพังจนอาจนำไปสู่การเจ็บป่วย เราทุกคนในครอบครัวช่วยกันได้ ด้วยการนำทริคเหล่านี้ไปดูแลจิตใจกันและกันค่ะ
- ลดการดู การอ่าน หรือการฟังข่าวที่ทำให้รู้สึกวิตกกังวลเกินไป ควรอ่านข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น ไม่ควรเชื่อถือข่าวลือ ในส่วนของการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคควรค้นตามเวลาที่กำหนดเพียงหนึ่งหรือสองครั้งต่อวันเท่านั้น เพราะกระแสข่าวต่าง ๆ ที่หลั่งไหลมาเร็วตลอดเวลาสามารถทำให้ทุกคนรู้สึกกลัวกังวลได้ง่าย
- การพูดคุยเกี่ยวกับเรื่อง COVID ในครอบครัวควรดูให้เหมาะสมตามวัย เช่น การพูดคุยกับเด็ก ๆ ควรใช้วิธีการสื่อสารที่ตรงแต่เหมาะสมกับวัย หากลูกของคุณมีความกังวล การพูดคุยไปด้วยกันอาจช่วยลดความกังวลได้ ทั้งนี้ เด็ก ๆ จะคอยสังเกตพฤติกรรมและอารมณ์ของผู้ใหญ่เพื่อหาวิธีจัดการอารมณ์ของตัวเอง ส่วนผู้สูงอายุสามารถแบ่งปันข้อเท็จจริงง่าย ๆเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นและให้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการลดความเสี่ยงของการติดเชื้อในรูปแบบที่ผู้สูงอายุจะสามารถเข้าใจได้ บอกข้อมูลซ้ำได้ตามที่จำเป็น และควรให้คำแนะนำสั้น ๆ แต่ชัดเจน โดยให้เกียรติและอดทนในการพูดคุย
- รักษากิจวัตรและตารางประจำให้เหมือนเดิมให้มากที่สุด หรืออาจลองทำกิจกรรมใหม่ ๆ ในสภาพแวดล้อมใหม่ เช่น ออกกำลังกายในบ้าน ทำความสะอาดบ้าน ทำอาหาร ฝึกร้องเพลง วาดภาพ สำหรับเด็ก ๆ ควรจัดกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัย รวมถึงกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ให้มากที่สุดเพื่อกระตุ้นให้เด็ก ๆ ได้เล่นและได้ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นต่อไปแม้จะเป็นแค่ภายในครอบครัว ที่สำคัญ อย่าลืมติดต่อกับคนที่คุณรักเป็นประจำและสม่ำเสมอ เช่น โทรศัพท์ ไลน์ หรือเฟสไทม์หากัน
- สำหรับครอบครัวที่มีเด็ก ควรช่วยให้เด็กค้นหาวิธีเชิงบวกในการแสดงความรู้สึกกลัวหรือความเศร้าของตนเองออกมา เช่น การเล่น การวาดรูป จะสามารถช่วยให้เด็กแสดงอารมณ์ได้ง่ายขึ้น โดยทั่วไปเด็ก ๆ จะรู้สึกสบายใจขึ้นถ้าสามารถแสดงและสื่อสารความรู้สึกของตนเองได้ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและมีการเกื้อหนุนจากคนรอบข้าง
- ผู้สูงอายุโดยเฉพาะผู้ที่ถูกกักตัวหรือผู้ป่วยสมองเสื่อมอาจมีความรู้สึกกังวล โกรธ ตึงเครียด กระสับกระส่าย และเก็บตัวมากขึ้นในระหว่างการระบาดของโรค สมาชิกในครอบครัวควรมีการให้กำลังใจเพื่อให้อาการต่าง ๆ เหล่านี้สงบลง
- ครอบครัวที่มีผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยควรเตรียมตัวและวางแผนล่วงหน้าว่าจะขอรับความช่วยเหลืออย่างไรหากมีเหตุฉุกเฉิน เช่น การเรียกรถแท็กซี่ เรียกรถพยาบาล ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่ามียาที่ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยในบ้านต้องใช้เป็นประจำเก็บไว้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ นอกจากนี้ทุกคนในบ้านควรออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อรักษาความคล่องตัวและลดความเบื่อเซ็ง
และที่ห้ามลืมโดยเด็ดขาด คือ ทุกคนในครอบครัวต้องดูแลตัวเองให้ห่างไกลโควิด-19 โดยการล้างมือบ่อย ๆ ไม่เอามือแตะหน้า ไอจามปิดปาก เว้นระยะห่างจากคนอื่น สวมหน้ากากอนามัย รวมทั้งกักตัวเมื่อเจ็บป่วย