ร่างกายคนเราต้องการอาหารครบ 3 มื้อ แต่บางครั้งก็ยังได้รับสารอาหารและพลังงานไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องมี “อาหารว่าง” ระหว่างมื้อเป็นตัวช่วยเสริม เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานและสารอาหารอย่างเพียงพอ แต่ถ้ากินมากไปก็จะทำให้ร่างกายได้รับพลังงานเกิน ซึ่งอาจสะสมจนทำให้เกิดโรคอ้วนได้
การบริโภคอาหารว่างตามหลักโภชนาการ
โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มีดังนี้
- มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ แต่มีปริมาณน้ำมัน น้ำตาล และเกลือไม่สูงเกินไป ให้พลังงานไม่เกินร้อยละ 10 ของพลังงานที่ต้องการต่อวัน
- เลือกผลไม้สดเป็นอาหารว่าง เช่น ส้ม มะละกอ ชมพู่ ฝรั่ง เป็นต้น เลี่ยงผลไม้หวานจัด เช่น ลำไย ลิ้นจี่ หรือผลไม้แปรรูป กวน แช่อิ่ม ที่มีน้ำตาลและเกลือมาก
- เครื่องดื่มควรเป็นน้ำเปล่า หรือน้ำผลไม้ที่มีส่วนผสมของผลไม้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 มีน้ำตาลไม่เกินร้อยละ 5 เช่น น้ำส้ม น้ำฝรั่ง
- เลือกขนมปังชนิดที่มีธัญพืชเป็นส่วนประกอบ เช่น โฮลวีท ข้าวโอ๊ต งา ถั่วแดง หลีกเลี่ยงที่มีไขมันสูง รสหวานจัด เช่น คุกกี้ พัฟ พาย เค้กหน้าครีม
- เลือกพืชหัวและธัญพืช เช่น ข้าวโพดต้ม กล้วยต้ม มันต้ม
- ขนมไทยให้เน้นที่มีธัญพืช ถั่ว ผัก ผลไม้เป็นส่วนประกอบ เลือกชนิดที่มีน้ำมันน้อย กะทิ หรือมะพร้าวน้อย และไม่หวานจัด เช่น ถั่วแปบ ขนมตาล ขนมกล้วย ให้หลีกเลี่ยงขนมไทยที่มีกะทิหรือน้ำตาลมาก เช่น ตะโก้ ขนมหม้อแกง ฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด
การจัดอาหารว่างเพื่อสุขภาพควรจัดให้หลากหลายชนิด ในปริมาณพอเหมาะ หากขนมที่มีพลังงานสูงก็ควรกินคู่กับเครื่องดื่มที่ให้พลังงานต่ำ หรือน้ำเปล่า หรือลดปริมาณขนมให้น้อยลงนะคะ