ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนได้คร่าชีวิตคนไทยสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก สาเหตุมาจากการดื่มแล้วขับ การขับเร็ว ไม่สวมหมวกนิรภัย รวมถึงการไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ที่ได้ส่งผลกระทบทำให้เกิดความรุนแรง บาดเจ็บ และเสียชีวิตสูง โดยเฉพาะเมื่อเป็นผู้โดยสารที่นั่งเบาะหลัง หลายครอบครัวมักละเลยการคาดเข็มขัดนิรภัย
ในปัจจุบันเราจะเห็นว่าพฤติกรรมของผู้โดยสารส่วนใหญ่จะคาดเข็มขัดนิรภัยแถวหน้าจนเป็นนิสัยแล้ว ขณะที่ผู้โดยสารที่เบาะหลังจำนวนมากยังไม่คุ้นชินกับการคาดเข็มขัดนิรภัย และเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ความเสียหายทั้งด้านทรัพย์สินและชีวิตเมื่อเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์
ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่มักคิดว่าไม่มีความจำเป็นต้องคาดเข็มขัดนิรภัยแถวหลัง เพราะคงไม่เกิดเหตุการณ์ที่ร้ายแรง ทั้งที่จริงแล้ว มีตัวอย่างมากมายของความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดจากการชะล่าใจดังกล่าว
ข้อมูลจาก นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า…
ที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐและทุกภาคส่วนได้มีการกำหนดมาตรการความปลอดภัย เกี่ยวกับการคาดเข็มขัดนิรภัยอย่างเข้มเข้มและต่อเนื่อง แต่คนส่วนใหญ่ที่เป็นผู้โดยสารยังละเลยและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อย เพราะเข้าใจว่าการนั่งโดยสารรถ ถ้านั่งเบาะหลังน่าจะปลอดภัยกว่านั่งเบาะหน้า หรือถ้าหากเป็นการใช้บริการรถแท็กซี่หรือรถโดยสารสาธารณะ ก็คิดว่านั่งไม่นานก็ลง
ซึ่งตามทฤษฎีแล้ว รถที่วิ่งด้วยความเร็ว 60 กม/ชม. หากเกิดอุบัติเหตุจะทำให้คนที่นั่งบนรถพุ่งไปข้างหน้าและเมื่อมีการปะทะคนหรือวัตถุในตัวรถ แรงปะทะจะเทียบเท่ากับการตกตึก 5 ชั้น ส่งผลให้คนที่ไม่คาดเข็มขัดทะลุกระจก ชนเก้าอี้หรือคนที่นั่งอยู่ตอนหน้า ทำให้ได้รับบาดเจ็บรุนแรงได้
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีผู้ขับรถยนต์และผู้โดยสารส่วนใหญ่ที่รอดตายเพราะคาดเข็มขัดนิรภัย เพราะเข็มขัดนิรภัยสามารถลดความรุนแรงถึงเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 34-40 เมื่อเทียบกับการไม่คาดเข็มขัดนิรภัย จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกที่มีการสำรวจและจัดอันดับการคาดเข็มขัดนิรภัยใน 182 ประเทศทั่วโลก ปรากฏว่า 1 ใน 4 ของประเทศที่สำรวจอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนประเทศไทยได้คะแนน 6 จากคะแนนเต็ม 10 ถือว่ายังไม่เข้มข้นเท่าที่ควร
ไม่อยากให้สมาชิกในครอบครัวสุ่มเสี่ยงจากความรุนแรงอันเนื่องจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ก็ต้องช่วยกันปลูกฝังนิสัยการคาดเข็มขัดนิรภัย รวมถึงการปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดนะคะ