ยังคงร้อนแรงไม่เปลี่ยนสำหรับกระแสฟุตบอลโลกฟีเวอร์ ที่น่ากลัวคือ มีการคาดการณ์ว่าอาจจะมีการพนันออนไลน์ประเภททายผลฟุตบอลกันมากกว่าปกติ เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเล่นพนันโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน ไม่อยากให้สมาชิกในบ้านที่คุณรักต้องติดในบ่วงการพนัน ทุกคนในครอบครัวต้องช่วยกันค่ะ
ข้อมูลจาก น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่า
ผลสำรวจในปี 2558 พบว่าเด็กและเยาวชน ใช้เว็บไซต์เป็นช่องทางเข้าถึงข้อมูลการพนันถึงร้อยละ 53 และเด็กวัยนี้มีความเสี่ยงสูงจะติดการพนันได้ง่ายและเลิกยาก เนื่องจากสมองส่วนหน้าซึ่งทำหน้าที่ในการคิด ใช้เหตุผลตัดสินใจ ยังเจริญไม่เต็มที่เท่าผู้ใหญ่ จึงขาดความยับยั้งชั่งใจ
เด็กและเยาวชนที่ติดการพนันตั้งแต่อายุยังน้อย จะส่งผลให้สมองมีพัฒนาที่ไม่เหมาะสม มีโอกาสติดพนันตลอดชีวิต จึงต้องรีบไปพบแพทย์รักษาให้เร็วที่สุด โดยผู้อยากเลิกพนันสามารถรักษาให้หายได้ แต่หากไม่ได้รักษา จะมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและเกิดปัญหาสังคมหลายอย่าง เช่น ปล้นชิงทรัพย์ ล่อลวงเงิน ร้อยละ 61 ขายบริการทางเพศร้อยละ 7 ค้ายาเสพติดร้อยละ 5 มีโอกาสติดเหล้า 5 เท่าตัว เกิดภาวะซึมเศร้า 4 เท่า และพยายามฆ่าตัวตายร้อยละ 6
ด้าน พญ.รัชนี ฉลองเกื้อกูล ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กทม. กล่าวว่า ผู้ที่เสพติดการพนันจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป 3 ลักษณะ ได้แก่
- เมื่อพยายามหยุดเล่นพนันจะมีอาการนอนไม่หลับ หงุดหงิด หรือวิตกกังวล
- ปิดบังครอบครัวหรือเพื่อนไม่ให้รู้ว่าเสียพนัน
- ต้องการความช่วยเหลือด้านการเงิน
หากพบบุตรหลานบุคคลในครอบครัวหรือตนเองมีพฤติกรรม 1 ใน 3 ข้อที่กล่าวมาแสดงว่า เสี่ยงต่อการติดพนัน! ขอให้รีบโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพื่อเข้ารับการบำบัดรักษาอย่างจริงจังก่อนที่อาการจะรุนแรงเกิดโรคทางจิตเวช ที่เรียกว่า “โรคพนัน (Pathological Gambling)” มีอาการคือหยุดเล่นพนันไม่ได้ แม้จะมีความทุกข์ขนาดไหนก็ตาม เพราะสมอง เสพติดอย่างรุนแรง ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสังคมตามมา
ครอบครัวนับว่ามีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาติดการพนัน สิ่งที่ควรทำ คือ ให้ความเข้าใจ ให้อภัย ไม่บ่น และไม่จับผิด เพื่อให้ผู้มีปัญหารู้สึกปลอดภัย นำไปสู่การเข้ารับการบำบัดอย่างเต็มใจค่ะ