ยังคงมีปรากฏให้เห็นอยู่เนืองๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นฆ่าตัวตาย หรือบางรายฮาร์ดคอร์ถึงขั้นไลฟ์สดการฆ่าตัวตายผ่านโซเชียลมีเดีย แม้พฤติกรรมเลียนแบบ ในกรณีการฆ่าตัวตายไม่ได้เกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ แต่มีการศึกษา พบว่า บุคคลที่เปราะบาง เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีโอกาสเลียนแบบได้สูง
บุคคลที่เปราะบาง ได้แก่ ผู้ที่มีปัญหามากอยู่แล้วจะเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ที่จะมีโอกาสเลียนแบบได้สูง เพราะอยู่ในสภาวะจิตใจที่ขาดความมั่งคง โดย น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้คำแนะนำว่า…
สิ่งที่ควรทำ คือ อย่าเพิกเฉยหรือนิ่งนอนใจ ไม่ว่าการกระทำดังกล่าวจะด้วยเหตุผลการประชดประชัน หรือเรียกร้องความสนใจใดๆ ก็ตาม ให้ใช้ความทันสมัยและความรวดเร็วของสื่อสังคมให้การช่วยเหลือผู้ก่อเหตุ พูดคุยประวิงเวลา ตลอดจนรีบติดต่อเจ้าหน้าที่หน่วยฉุกเฉินให้เข้าไปช่วยเหลือ
สำหรับผลกระทบกับเด็กที่ตกอยู่ในเหตุการณ์รุนแรงทุกชนิด ล้วนเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการช่วยเหลือทั้งสิ้น เมื่อสภาวะครอบครัวมีความรุนแรงสูง เด็กจะมีปัญหาได้ทั้งทางอารมณ์และพฤติกรรม อารมณ์ส่วนใหญ่จะแสดงออกมาในรูปแบบความวิตกกังวล หรือซึมเศร้า ส่วนพฤติกรรมมักจะเป็นแบบแยกตัว หรือก้าวร้าวรุนแรง ผู้ใกล้ชิดจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งที่จะสังเกตและช่วยเหลือพวกเขา
ผู้ที่ทำร้ายตนเองมักจะมีสาเหตุที่ซับซ้อน และมักจะมีสัญญาณเตือนล่วงหน้า อาจจะมีปัญหาทางอารมณ์ในการควบคุมตัวเอง การดื่มสุรา หรือมีปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว ปัญหาด้านหนี้สิน เป็นต้น
หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาสัมพันธภาพในครอบครัว เป็นปัญหาของการสื่อสาร จึงควรหาเวลาสงบๆ พูดกัน อย่าหาทางออกด้วยการทำร้ายตนเอง หรือทำร้ายผู้อื่น เมื่อมีอารมณ์ทางลบ ขอให้บอกหรือแชร์ความรู้สึกของตนเองต่อความสัมพันธ์นั้นมากกว่าพูดถึงพฤติกรรมอีกฝ่าย ควรใช้คำพูดที่น่าฟังไม่หยาบคาย เช่น ฉันกังวลที่เงินเราไม่พอใช้ มากกว่าทำไมเธอใช้เงินเปลือง
ฉะนั้น การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การป้องกันแต่ต้นทาง โดยการสอดส่องมองหา ผู้ใกล้ชิดที่มีสัญญาณของการฆ่าตัวตาย คือ ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า ผู้ที่มีประวัติพยายามฆ่าตัวตาย และผู้ที่แสดงถึงความต้องการฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ควรใส่ใจรับฟัง คนรอบข้างที่มีความเสี่ยง อย่าคิดว่าพวกเขาไม่ทำจริง เมื่อคุยแล้วจะทำให้รู้ถึงความรุนแรงของปัญหาของพวกเขา
ทั้งนี้ หากการพูดคุยเจรจากับผู้มีความเสี่ยงไม่ได้ผล ควรส่งต่อให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตช่วยดูแล หรืออาจขอรับบริการด้านสุขภาพจิต ได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323