ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และคนในครอบครัวเป็นปัญหาที่สำคัญของสังคม ควรได้รับการดูแลแก้ไข และรณรงค์ให้เกิดความตระหนักรู้และร่วมกันป้องกัน ไม่เพิกเฉยหรือมองปัญหาเหล่านี้เป็นเพียงเรื่องในครอบครัว หนึ่งในปัญหาที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในยุคโซเชียลนี้ คือ การคุกคามความปลอดภัยเด็กผ่านสื่อออนไลน์
ปัญหาความรุนแรงในเด็กประกอบไปด้วย การทำร้ายร่างกายเด็ก การละเมิดทางเพศ การทำร้ายทางจิตใจ การละเลยทอดทิ้งเด็ก จากสถิติผู้มารับบริการของศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในระหว่างการระบาดของโควิด 19 มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงเข้ารับบริการเพิ่มมากขึ้น ในปี 2562-2564 มีจำนวน 15,000-16,000 ราย โดยร้อยละ 40 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ผู้กระทำความรุนแรงส่วนใหญ่เป็นบุคคลในครอบครัว
ข้อมูลจากองค์การยูนิเซฟ พบว่าในช่วงการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 เด็กทั่วโลกกำลังเผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหลายด้าน เช่น การถูกละเมิด ความรุนแรงด้านต่าง ๆ การถูกแสวงประโยชน์ การถูกกีดกันจากสังคม รวมถึงการถูกแยกจากผู้ปกครอง และจากสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่า เด็กไทยถูกล่วงละเมิดทางเพศทางออนไลน์สูงมากขึ้น โดยเด็กส่วนใหญ่มักไม่ได้เล่าให้ผู้ปกครองฟัง และมากกว่าร้อยละ 47 ที่ไม่รู้ว่าจะขอความช่วยเหลือได้อย่างไร
ปัจจุบันการคุกคามความปลอดภัยเด็กผ่านสื่อออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ความรู้แก่เด็กและผู้ปกครองให้มีความรู้เท่าทันสื่อ สามารถช่วยเหลือเด็กเมื่อประสบความรุนแรงในการใช้สื่อได้ นี่คือข้อแนะนำเพื่อให้เด็กและผู้ปกครองมีความรู้เท่าทันสื่อออนไลน์
1. ควรมีการจำกัดเวลาใช้ และตั้งกติกา เพื่อควบคุมปริมาณการใช้งานไม่ให้มากจนเกินไปและส่งผลเสียในที่สุด อาทิ เล่นได้ 1 ชั่วโมงต่อวัน หลังทำการบ้านและหน้าที่รับผิดชอบให้เรียบร้อยเสียก่อน
2. ควรมีการตรวจสอบเนื้อหาของสื่อที่เด็กใช้ เช่น รายการ/ กิจกรรมใดทำได้หรือไม่ได้ เว็บไซต์แบบใดควรหรือไม่ควรเข้า
3. มีเวลาให้กับลูกและทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก ได้ใช้เวลาทำกิจกรรมอื่นนอกจากสื่อออนไลน์
4. สอนทักษะรู้เท่าทันสื่อและความฉลาดทางดิจิทัล โดยรู้จักวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของสื่อ คิดก่อนโพสต์ ไม่แชร์ข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อตนเองและผู้อื่น ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัว เช่นที่อยู่ เลขบัตรประชาชน ตั้งรหัสให้คาดเดายาก และตรวจสอบบัญชีผู้ใช้ของตนอยู่เสมอ
5. หากเกิดความผิดพลาดในการใช้สื่อหรือถูกคุกคาม เด็กๆ ควรบอกผู้ปกครองและแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยควรหยุดการใช้สื่อโซเชียล บล๊อคการติดต่อกับบุคคลที่คุกคามและ Report เพื่อกันไม่ให้บุคคลนั้นใช้โซเชียลชั่วคราว บันทึกหน้าจอเพื่อใช้เป็นหลักฐานหลังจากนั้นให้ลบข้อมูลคุกคามหรือข้อมูลที่ไม่ดีออกเพื่อลดการส่งต่อ และผู้ปกครองคอยสังเกตติดตามอารมณ์และพฤติกรรมเด็กที่อาจได้รับผลกระทบ
ผู้ปกครองที่อยู่ใกล้ชิด นับเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้เด็ก ๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างปลอดภัย และสอนเด็กๆ ให้มีทักษะในการใช้สื่อออนไลน์ให้เกิดประโยชน์ ไม่เป็นเหยื่อจากการใช้สื่อออนไลน์ในแบบผิด ๆ