พ่อแม่ยุคใหม่กับการสอนลูกเรื่อง “สิทธิ”

0

สิทธิของลูก เป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ไม่ว่าจะสอนหรือไม่ เด็กจะเข้าใจหรือเปล่า ทุกคนก็มีสิทธิอยู่ดี ที่สำคัญหากพ่อแม่ไม่สอนลูกเรื่องนี้ อาจทำให้ลูกถูกละเมิดสิทธิ หรือไปละเมิดสิทธิคนอื่นโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น ความเข้าใจที่ถูกต้องจะช่วยให้เด็กปฏิบัติตัวได้อย่างเหมาะสม รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ควรหรือไม่ควรทำ

การวางรากฐานให้ลูกเข้าใจเรื่องสิทธิของตนเองและผู้อื่นช่วยกล่อมเกลาให้ลูกเป็นเด็กที่มีเหตุผล มีกาลเทศะ รู้ว่าอะไรควรไม่ควร เคารพตนเองและผู้อื่น รู้หน้าที่ของตัวเองต่อส่วนรวม มีความรับผิดชอบต่อสังคมและเกิดการมีส่วนร่วมของเด็กในสังคม เริ่มจากเรื่องง่ายๆ ใกล้ๆ ตัว ในชีวิตประจำวัน เด็กต้องเข้าใจว่าพ่อแม่เองก็มีสิทธิเช่นเดียวกันกับลูก ดังนั้น ลูกอาจไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการทุกครั้ง ทุกเวลา สิ่งสำคัญคือสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ อย่างตรงไปตรงมาว่าสิ่งที่เด็กเรียกร้องนั้น สมควรหรือไม่สมควร เพราะอะไร

เด็กจะเข้าใจเรื่องสิทธิได้ ไม่ใช่จากแค่คำสั่งสอน แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า คือการที่พ่อแม่ปฏิบัติตัวให้เป็นแบบอย่างให้ลูกเห็นพฤติกรรมที่เคารพสิทธิของคนอื่น ปลูกฝังบรรยากาศของครอบครัวให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่ลูกสามารถพูดคุยและสอบถามข้อสงสัย โดยที่พ่อแม่ฟังและเคารพความเห็นของลูก ลูกจึงจะเข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้อย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ทั้งนี้ พ่อแม่สามารถนำเหตุการณ์รอบตัวมาชวนลูกคุยให้รู้ถึงสิทธิของตัวเองและเคารพสิทธิของคนอื่น ดังนี้

1. ชี้ให้ลูกเห็นว่า ลูกคือใคร มีหน้าที่อะไร โดยยกตัวอย่างคนในครอบครัวก็ได้ เพื่อให้ลูกเข้าใจเรื่องความแตกต่างกันของแต่ละคน รวมถึงหน้าที่ บทบาท สิทธิของตัวเองและผู้อื่น เช่น ชี้ชวนลูกทำงานบ้าน ถามลูกว่าใครต้องทำงานบ้านบ้าง หรือเมื่อลูกเล่นของเล่นแล้วไม่ยอมเก็บ ใครควรเก็บ เป็นต้น

2. สอนให้ลูกเข้าใจเรื่องขอบเขต และการเป็นสมาชิกกลุ่ม ให้ลูกเห็นว่าที่ไหนบ้างคือพื้นที่ของลูก หรือสถาบันที่ลูกเกี่ยวข้องอยู่ โดยเริ่มจากเรื่องใกล้ๆ ตัว ครอบครัว โรงเรียน หมู่บ้านของเรา ชวนคุยเรื่องความรับผิดชอบที่ลูกมีต่อครอบครัว เพื่อนในชั้นเรียน คนในหมู่บ้าน เป็นต้น

3. ลูกควรเข้าใจเรื่องความแตกต่างทางความคิด พ่อแม่สามารถชวนลูกคุยและแสดงความคิดเห็น พร้อมชี้ให้เห็นว่า แต่ละคนสามารถมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ คนอื่นมีสิทธิที่จะคิดไม่เหมือนเรา ดังนั้น เราต้องรับฟัง และเราก็มีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นเป็นของตัวเองด้วยเช่นกัน

4. สอนให้ลูกเข้าใจเรื่องอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองและคนอื่น เช่น ชวนลูกคุยโดยยกสถานการณ์เพื่อให้เห็นว่า ถ้าลูกไปละเมิดสิทธิคนอื่น หรือถูกละเมิดสิทธิ จะรู้สึกอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบ

5. รับฟังความคิดเห็นของลูก เปิดโอกาสให้ลูกคิดและตัดสินใจด้วยตัวเอง และยอมรับผลที่ตามมาจากการตัดสินใจนั้น

6. สอนให้ลูกเข้าใจเกี่ยวกับ พื้นที่ปลอดภัย ซึ่งก็คือพื้นที่ที่มีความสงบสุข ชีวิตที่มีความสุข เพื่อให้ลูกเข้าใจเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของตัวเอง ว่าทุกคนควรได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีความสุขและปลอดภัย

7. สอนให้ลูกเข้าใจเรื่องเนื้อตัวร่างกายของตนเอง รู้ว่าอวัยวะส่วนใดมีชื่อว่าอะไร อย่างไร บริเวณไหนที่คนอื่นจับต้องไม่ได้ถ้าไม่ได้รับอนุญาต

8. สอนให้ลูกรู้จักการตอบรับ และปฏิเสธ โดยไม่ถูกบีบบังคับฝืนใจ

ถ้าเด็กๆ มีความเข้าใจเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานจากเรื่องใกล้ๆ ตัว ในชีวิตประจำวัน เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น การทำความเข้าใจเรื่องที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น สิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สิทธิทางสังคม ก็จะไม่ใช่เรื่องยากเกินไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *