
เรียกว่าเป็นประโยคที่เรามักได้ยินพ่อแม่รวมถึงผู้ใหญ่ในบ้านพูดกับเด็ก ๆ ว่า กินเยอะ ๆ จะได้โตไว ๆ ยิ่งลูกกินเก่งยิ่งมีความสุข แม้จะพูดไปอย่างนั้น แต่เชื่อว่าถ้าลูกหลานโตเร็วเกินไป เป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย เช่น อายุแค่ 7 ขวบ เริ่มมีหน้าอก หรือ 9 ขวบ เริ่มมีประจำเดือน งานนี้น่าจะเครียดแทนมากกว่า!
ภาวะเด็กมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วเกินวัย โดยส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่บางส่วนอาจเกิดจากปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น พันธุกรรม ภาวะอ้วน/น้ำหนักเกิน เคยมีประวัติมีก้อนเนื้องอกในสมอง หรือสมองเคยขาดออกซิเจน เคยได้รับการฉายรังสีก็จะไปกระตุ้นต่อมใต้สมองให้สร้างฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน (Gonadotropin) เพื่อกระตุ้นต่อมเพศให้สร้างฮอร์โมนเพศเพิ่มขึ้น และการได้รับยาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเพศ เป็นต้น
ผลกระทบด้านร่างกายของภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย ได้แก่ กระดูกปิดเร็ว ทำให้หยุดสูง เมื่อเป็นผู้ใหญ่จะเตี้ยกว่าที่ควรจะเป็น ส่วนทางด้านจิตใจจะได้รับผลกระทบจากความไม่สอดคล้องของการเติบโตทางด้านร่างกายกับวุฒิภาวะทางจิตใจอาจมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับรูปร่างตนเอง อับอาย ถูกเพื่อนล้อและมีพฤติกรรมแยกตัว เด็กผู้หญิงมีปัญหาในเรื่องการดูแลตนเองในช่วงมีประจำเดือน ส่วนในเด็กชายอาจจะมีพฤติกรรมก้าวร้าว อารมณ์รุนแรงและมีอารมณ์ทางเพศ
หากพบลักษณะหรืออาการดังกล่าวของบุตรหลาน ควรเข้ารับการวินิจฉัยด้วยการเอกซ์เรย์ เพื่อตรวจอายุของกระดูก หรือตรวจเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมนเพศในร่างกาย หรือตรวจ MRI สมองและ ทำอัลตร้าซาวด์ บริเวณมดลูกสำหรับเด็กหญิง เพื่อยืนยันว่าอาการที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากเนื้องอกในสมอง หรือความผิดปกติที่รังไข่ หรือมดลูก เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา โดยเด็กสามารถรับการรักษาฟรี ได้ที่โรงพยาบาลที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง)
สำหรับครอบครัวที่ลูกมีภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวเร็ว พ่อแม่ควรพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
1. บอกให้ลูกรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น โดยอธิบายตามความเป็นจริง ไม่ควรโกหกลูก
2. บอกเหตุผลและความจำเป็นในการรักษา อธิบายให้ลูกฟังว่าผลเสียของการไม่รักษามีอะไรบ้าง
3. ให้ความรู้เรื่องเพศตามความเหมาะสม เพื่อให้เข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ลดความตกใจและความกังวลที่เกิดขึ้น รวมถึงการดูแลปกป้องร่างกายตนเองและการป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศ
4. ควบคุมน้ำหนักของเด็กให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน และออกกำลังกายเป็นประจำ
วิธีป้องกันและลดความเสี่ยงภาวะเด็กมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วเกินวัย
1. ให้เด็กกินอาหารตามโภชนาการที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารทอด อาหารที่มีไขมันสูง และอาหารจานด่วน ส่วนการกินอาหารประเภทไก่บ่อย ๆ ยังไม่พบหลักฐานทางวิชาการที่บ่งชี้ว่าทำให้เด็กเป็นโรคโตกว่าวัย
2. ควบคุมน้ำหนักของเด็กให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจากเด็กอ้วนจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้มาก
3. ออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อการมีสุขภาพที่แข็งแรงตามวัย
ที่สำคัญ ไม่ควรปล่อยให้เด็กนอนดึกจนเกินไป ควรจะให้เข้านอนก่อน 22.00 น. เพราะช่วงเวลานี้ร่างกายจะมีการหลั่งฮอร์โมนเจริญเติบโตออกมาขณะที่หลับ