พ่อแม่ต้องระวัง! อย่าปล่อยให้ลูกติดเกม ติดหนักอาจช็อกตายคาจอ

0

ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้จัดภาวะติดเกม (ภาวะเสพติดพฤติกรรม) เป็น 1 โรคทางจิตเวชที่ต้องได้รับการรักษา ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีปัญหาเด็กติดเกมเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก เหตุเพราะพ่อแม่ขาดความเข้าใจ เลี้ยงลูกด้วยโทรศัพท์มือถือ ให้เล่นเกมเพื่อจะได้อยู่นิ่ง ๆ และอยู่ในสายตา พอมากเกินไปทำให้เด็กติดเกม

ข้อสังเกตว่า “ลูกติดเกม” มีดังนี้

• ไม่สามารถควบคุมตัวเองให้เล่นในเวลาที่กำหนดได้

• หากถูกบังคับให้เลิกเล่นจะต่อต้าน หงุดหงิด ไม่พอใจอย่างรุนแรง บางคนถึงขั้นก้าวร้าว อาละวาด

• มีผลกระทบต่อหน้าที่ความรับผิดชอบ เช่น ไม่ทำการบ้าน ไม่ช่วยทำงานบ้าน เป็นต้น

• มีผลกระทบต่อกิจวัตรประจำวัน ถึงเวลากิน ไม่กิน ถึงเวลานอน ไม่นอน เสียการเรียน หรือมีผลกระทบต่อคนอื่น

• อาจมีปัญหาพฤติกรรมอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โกหก ลักขโมย เป็นต้น

การติดเกมมีผลกระทบกับสุขภาพ คือ

1. เสียสายตา การจ้องจอนาน ๆ จะมีผลต่อสายตา เพราะแสงและสีของภาพที่ฉูดฉาด การเคลื่อนที่เร็ว จะส่งผลให้เด็ก ๆ ปวดตา มองเบลอ ไม่ชัด มีปัญหาสายตาสั้นเทียม นำไปสู่ปัญหาสายตาสั้นจริง และยังทำให้ปวดกล้ามเนื้อตา ตาอักเสบ

2. อ้วนมาก เพราะขาดการเคลื่อนไหว มัวแต่นั่งจ้องหน้าจอเพื่อเล่นเกม ซึ่งความเสี่ยงที่ตามมาจากภาวะอ้วน คือ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ ฉะนั้น ควรมีการจำกัดชั่วโมงการเล่นเกม ให้น้อยกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน และให้เปลี่ยนอิริยาบถจากท่านั่งหรือนอนราบทุก 1 ชั่วโมง ด้วยการลุกเดินไปมาหรือยืดเหยียดร่างกายเพื่อสุขภาพที่ดีสมวัย

3. การสื่อสารบกพร่อง มีปัญหาสุขภาพจิต มองแต่จอโดยไม่สนใจหรือมองสิ่งรอบข้าง ทำให้เด็กสื่อสารทางเดียว มองทางเดียว เล่นคนเดียว ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง พูดช้าลง หรืออาจนำไปสู่การเป็นโรคสมาธิสั้นได้ นอกจากนี้ อาจมีปัญหาสุขภาพจิต เนื้องจากหมกมุ่นอยู่แต่กับการเล่นเกม ทำให้ไม่มีการสื่อสาร ไม่เข้าสังคม พอเกิดปัญหาก็หนีไปหาเกม และที่หนักมาก คือ การติดเกมหนักไม่ยอมกินยอมนอน ทำให้ร่างกายอ่อนแอ สูญเสียเกลือแร่ และความสมดุลของร่างกาย ทำให้เกิดภาวะช็อก เสียชีวิตคาจอ ยิ่งถ้ามีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ถือว่าอันตรายเพิ่มขึ้นอีก

ยึดหลัก “3 ต้อง 3 ไม่” คือ

“3 ต้อง” ได้แก่

1. ต้องกำหนดเวลาเล่นไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน

2. ต้องตกลงโปรแกรมและเลือกประเภทเกมให้ลูก เช่น เกมบริหารสมอง ลดเกมที่เสี่ยงความก้าวร้าวอย่างการฆ่ากันยิงกัน พ่อแม่ต้องอยู่ด้วย

3. ต้องเล่นกับลูก เพื่อสอนให้คำแนะนำกันได้

“3 ไม่” ได้แก่

1. พ่อแม่ไม่เล่นเป็นตัวอย่าง

2. ไม่เล่นในเวลาครอบครัว

3. ไม่เล่นในห้องนอน

ย้ำอีกครั้ง พ่อแม่ควรใส่ใจ สังเกต และสอดส่องพฤติกรรมของลูกอยู่เสมอ เวลาลูกเล่นเกม พ่อแม่ต้องคอยแนะนำอยู่ข้าง ๆ และควรเลือกเกมที่เหมาะสมกับวัย ไม่มีความรุนแรง ควรเป็นเกมที่เสริมพัฒนาการของเด็ก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *