ครอบครัวต้องรู้! 4 วิธีสังเกตบุตรหลานสูบบุหรี่ไฟฟ้า

0

ปัจจุบัน พบการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเห็นได้จากการออกแบบบรรจุภัณฑ์ของบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกใจเด็กและวัยรุ่น การใส่สารปรุงแต่งกลิ่นและรสชาติในบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อดึงดูดให้อยากลองสูบ ซึ่งทำให้เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อได้ง่าย

ข้อมูลจากมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ระบุว่า จากผลสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทยอายุ 13-15 ปี จำนวน 6,700 คนในโรงเรียนทั่วประเทศ พบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากปี 2558 พบเยาวชนสูบบุหรี่ร้อยละ 3.3 เพิ่มเป็นร้อยละ 17.6 ในปี 2565 เพิ่มขึ้นเกือบ 5.3 เท่า และเยาวชนหญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น

การใช้บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนทำให้เสพติดนิโคติน ซึ่งถือเป็นต้นทางแรก ประตูเชื่อมให้ไปสู่การเสพติดยาเสพติดอื่นๆ ได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนิโคตินที่ใช้ในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นนิโคตินสังเคราะห์ สามารถดูดซึมได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นมากกว่านิโคตินตามธรรมชาติ และยังก่อให้เกิดอาการระคายเคืองทางเดินหายใจส่วนต้นน้อยกว่านิโคตินแบบเดิมอีกด้วย ทำให้เด็กๆ เริ่มทดลองและเสพติดได้ง่ายมาก 

นอกจากนี้ ในควันบุหรี่ยังมีสารพิษที่เมื่อสูดเข้าไปแล้ว สามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด และส่งต่อไปยังสมองได้ภายใน 7 วินาที ช่วยกระตุ้นให้สมองเกิดการหลั่งสารที่ทำให้เกิดการผ่อนคลายขึ้น หลังจากนั้น จะมีผลเสียไว้มากมายไม่ว่าจะเป็น ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ โรคมะเร็งต่ออวัยวะต่างๆ เรียกว่ามีความเสี่ยงสูงที่เด็กและเยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าจะเกิดการเสพติดนิโคตินไปตลอดชีวิต ซึ่งเป็นสารเดียวกันกับที่มีอยู่ในบุหรี่ธรรมดา 

เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนมิให้ตกเป็นเหยื่อของธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้า และไม่ยุ่งเกี่ยวหรืออยากทดลองใช้บุหรี่ไฟฟ้าซึ่งมีสารพิษ เสพติดและอันตราย จึงขอแนะนำพ่อแม่ ผู้ปกครองเกี่ยวกับ 4 วิธีสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลานที่อาจมีการใช้หรือสูบบุหรี่ไฟฟ้า ดังต่อไปนี้

1. มีกลิ่นหอมติดตัวโดยหาต้นตอของกลิ่นไม่ได้

2. ใช้เงินมากขึ้นกว่าปกติ หรือซื้อของที่ไม่สามารถบอกได้ว่าคืออะไร

3. พบผลิตภัณฑ์ หรืออุปกรณ์การเรียนที่ไม่คุ้นเคยในกระเป๋าหรือในห้องนอน เช่น ปากกา หรือแฟลชไดร์ฟ

4. สังเกตอาการผิดปกติของบุตรหลาน เช่น​ ไอ​ เจ็บคอ ปวดศีรษะ​ คลื่นไส้​ อาเจียน รวมถึงอาการกระวนกระวาย​ หงุดหงิดง่าย อารมณ์ฉุนเฉียว ซึ่งเป็นผลมาจากการติดนิโคติน

นอกจากการสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลานอย่างใกล้ชิดแล้ว พ่อแม่ ผู้ปกครองควรเฝ้าระวัง พูดคุยแนะนำ หรือให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่บุตรหลานในครอบครัวเกี่ยวกับโทษพิษภัย อันตราย และผลกระทบของการสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อเป็นการสร้างเกราะป้องกันตนเองจากบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนในครอบครัว ด้วยการไม่สูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าในบ้าน เพื่อป้องกันสมาชิกในครอบครัวไม่ให้ได้รับไอหรือควันจากบุหรี่ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และเพื่อการเป็นต้นแบบที่ดีแก่บุตรหลานด้วยการไม่สูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า

บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายอย่างมากและใกล้ตัวมากกว่าที่คิด ลูกอาจคล้อยตามและอยากลองสูบเมื่อมีเพื่อนมาชักชวน พ่อแม่ต้องมีเวลาใกล้ชิดพูดคุยกับลูกอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงหมั่นสังเกตลูก ยิ่งรู้เร็วจะได้นำไปสู่ขั้นตอนบำบัดรักษาเร็ว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *