อีกหนึ่งปัญหาที่พบบ่อยในเด็กวัยรุ่น โดยเฉพาะในต่างประเทศ กับกรณีการฆ่าตัวตายเพราะถูกเพื่อนกลั่นแกล้ง จึงเป็นเรื่องน่าตกใจและถูกพูดถึงในสังคมเป็นวงกว้าง จากกรณีนักเรียนชั้นมัธยมโรงเรียนดังย่านลาดพร้าว ใช้อาวุธปืนยิงตัวตายในบ้าน โดยพบจดหมายลาตาย ระบุสาเหตุมาจากการถูกเพื่อนแกล้ง
การกลั่นแกล้งกัน เป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นลำดับต้น ๆ มักเป็นข่าวบ่อยครั้งในประเทศญี่ปุ่น แต่ไม่ค่อยเป็นข่าวในประเทศไทย เพราะอัตราการฆ่าตัวตายในภาพรวมของประเทศไทย และเฉพาะในวัยรุ่นอยู่ในระดับต่ำ
อย่างไรก็ตาม การกลั่นแกล้งกันในวัยรุ่น ถือเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่สำคัญ จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนในครอบครัวไม่ควรละเลย!
กลุ่มเสี่ยง คือ วัยรุ่นที่ถูกกระทำ ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงทั้งจากความรู้สึกสูญเสียคุณค่าในตนเอง ขาดความมั่นใจในตนเอง และความรู้สึกทางลบต่าง ๆ เช่น ความรู้สึกอับอาย ไม่กล้าสู้หน้าคนอื่น เป็นต้น เด็กที่ถูกกระทำมักเป็นเด็กที่มีบุคลิกภาพเก็บตัว เรียบร้อย โดยธรรมชาติของสังคมไทยมักมองว่าเป็นเด็กดี และถือว่าเป็นเรื่องปกติ ตรงกันข้ามกับสังคมฝั่งตะวันตก ผู้คนมักแสดงออกกันตรงไปตรงมา ชอบหรือไม่ชอบก็แสดงออกตามที่รู้สึก ลักษณะการแสดงออกเช่นนี้ถือว่าเป็นปัญหา ทางที่ดีควรเดินสายกลาง
ทั้งนี้ การที่เด็กมีบุคลิกภาพเก็บตัวก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องถูกเพื่อนกลั่นแกล้งเสมอไป พ่อแม่ควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของลูกว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปจากปกติหรือไม่ หากมีแนวโน้มว่าใช่ก็ควรพูดคุยกับลูก รวมถึงปรึกษาครูเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาก่อนจะเกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้น นอกจากนี้พ่อแม่ควรสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูก พยายามกระตุ้นให้ลูกได้ใช้เวลาทำกิจกรรมที่หลากหลาย หรืออาจลูกพาไปร่วมกิจกรรมอื่น ๆ กับเด็กวัยใกล้เคียงกันนอกบ้านบ้าง ฝึกให้ลูกกล้าพูด หรือลองแก้ปัญหาเบื้องต้นเองหากเป็นความขัดแย้งเพียงเล็กน้อย สอนให้ลูกมีความกล้า โดยเฉพาะกล้าที่จะเปิดเผยถึงทุกเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวเขา
ปัญหาการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน หนึ่งในวิธีการป้องกัน คือ ต้องเสริมสร้างคุณค่าและความมั่นใจในตนเองให้ลูก เช่น ส่งเสริมพฤติกรรมด้านบวกของเด็ก ลดการลงโทษที่รุนแรงโดยใช้ได้อารมณ์